ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เผยล่าสุดตั้งโรงพยาบาลสนาม 4 จังหวัด “สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี” รวม 1,316 เตียง มีผู้ป่วยไม่มีอาการนอน 686 เตียง พร้อมสำรองเตียงเขตสุขภาพพื้นที่ระบาด อย่างต่อเขตละ 1,000 เตียง พร้อมเผยข้อแตกต่าง รพ.สนาม กับฮอสพิเทล

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับดูผลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า โรงพยาบาลสนาม ณ ขณะนี้มีจำนวนเตียงที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเตรียมไว้ในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจำนวนมาก โดยจ.สมุทรสาคร ข้อมูลเมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 7 ม.ค. มีจำนวน 872 เตียง โดยภาคตะวันออก คือ จ.ชลบุรี ระยอง และจันทบุรีมีจำนวน 444 เตียง รวม 1,316 เตียง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยไม่มีอาการที่เข้าไปนอนแล้ว 686 เตียง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายว่า ในเขตสุขภาพที่มีการแพร่ระบาดมากๆ อยากให้มีการสำรองเตียงไว้จำนวน 1,000 เตียงต่อเขตสุขภาพ

“เรื่องของโรงพยาบาลสนาม ภาพรวมยังมีจำนวนเตียงที่พอเพียง ขณะเดียวกันเราก็มีการเตรียมเพิ่มตลอดเวลา โดยเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงพยาบาลหลักที่หลายคนเข้าใจว่า เตียงไม่พอหรือไม่ ต้องเข้าใจก่อนว่า เตียงที่รองรับในโรงพยาบาลเราจะเน้นผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง และยังมีผู้ป่วยโรคอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับโควิด แต่ต้องเข้ารักษา” นพ.วีรวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเปิดโรงพยาบาลสนามไม่ใช่ว่าเปิดได้ทุกที่ ต้องขึ้นกับพื้นที่ว่ามีความพร้อมหรือไม่ หลักๆ ต้องห่างจากชุมชน มีการเตรียมระบบต่างๆ ให้พร้อม ไม่ได้มีแต่เตียง เรือนนอน แต่ยังมีระบบอื่นๆ ทั้งสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ การจัดการน้ำเสีย ระบบการซักล้างให้ปลอดเชื้อ และการจัดการดูแลผู้ป่วยก็มีการลงทะเบียน มีการสื่อสาร และมีการป้องกันเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงในจุดนี้ อีกทั้ง ระหว่างที่คนไข้อยู่ในรพ.สนาม เราก็ไม่ได้ทอดทิ้ง เรามีการตรวจตลอด และมีรถเอกซเรย์ปอดคอยตรวจอยู่ และยังมีระบบสันทนาการให้มีกิจกรรมแก่พวกเขาด้วย ซึ่งในพื้นที่มีการร่วมมือกันมาก ไม่ใช่แค่การแพทย์พยาบาล แต่มีฝ่ายความมั่นคง ชาวบ้าน

“สำหรับความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel (ฮอสพิเทล) นั้น ในส่วนโรงพยาบาลสนาม เป็นการนำผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ไม่มีโรคไปดูแลเฉพาะ แต่คนไข้ที่อยู่ในรพ.แล้วอาการดีขึ้น 5-7 วันแล้วก็จะให้มาอยู่ที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือฮอสพิเทล ซึ่งเป็นการระบายคนไข้ที่อาการดีขึ้นแล้วมาอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เพื่อเปิดพื้นที่ใน รพ.หลัก และจะได้รับผู้ป่วยที่อาการหนักกว่าได้ ซึ่งตรงนี้มีความพยายามขยายทั้งสองส่วน คือ ทั้งโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทล เราไม่ได้เน้นแต่โรงพยาบาลสนามอย่างเดียว” รองอธิบดีกรมการแพทย์

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานกรรมการอำนวยการเครือข่าย UHosNet กล่าวว่า ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดหารพ.สนาม เน้นการจับคู่วางแผนดูอาการคนไข้ ร่วมกัน ตามเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข มีทั้งการช่วยเหลือด้านการให้คำแนะนำ นำผู้เชี่ยวชาญลงไปในพื้นที่ หรือ วางแผนการรักษา เช่น ในเขตสุขภาพที่ 4 ของกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบ จ.นนทบุรี สระบุรี มี รพ.ธรรมศาสตร์ และ รพ.พระมงกุฎเกล้า และ รพ.ศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร ร่วมดูแล ส่วนพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 5 จ.สมุทรสาคร มี รพ.ศิริราช และ วชิรพยาบาลร่วมดูแล เขตสุขภาพที่ 6 จ.ระยอง ชลบุรี มี รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.รามาธิบดี ร่วมดูแล

“สำหรับในพื้นที่กทม.นั้นในส่วนของรพ.สนามเล็งพื้นที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ไว้เพื่อดูแล เนื่องจากคำนึงปริมาณ และใช้เวลาในการเดินทางไม่ไกล” รศ.นพ. สุรศักดิ์ กล่าว

 

รพ.สนามในจ.นนทบุรี ภาพจากกระทรวงสาธารณสุข