ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สิทธิ(คืนสิทธิ )ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตั้งแต่ 23 มีนาคม 2553 ผ่านมา 10 ปีจนถึงปัจจุบัน ช่วยให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิกลุ่มต่างๆ ที่กำลังรอพิสูจน์สถานะ กว่า 8 แสนคน เข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข

จากประสบการณ์ที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มคนไร้สัญชาติ สุมิตร วอพะพอ นักพัฒนาเอกชน องค์การแปลนประเทศไทย มองถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องช่วยกัน เมื่อก่อนที่ครม.จะมีมติเห็นชอบเรื่องนี้ คนไร้สัญชาติที่เจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาลไม่มีเงินรักษา โรงพยาบาลก็ต้องช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม เกิดภาระหนี้แก่โรงพยาบาล กองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“เวลาป่วยเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรได้ไปโรงพยาบาลดีกว่าเป็นหนักๆ แล้วไป ยิ่งหากในพื้นที่ห่างไกลเกิดโรคอุบัติใหม่ก็จะแพร่กระจายเข้าสู่คน กองทุนนี้จึงมีความจำเป็น” สุมิตรให้ความเห็นต่อการดำเนินงานกองทุนฯที่ผ่านมากว่า 10 ปี

เช่นเดียวกับ วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ นักพัฒนาเอกชนที่ทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิกลุ่มคนชาติพันธ์ในพื้นที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ก็เห็นว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ครม.มีมติเห็นชอบให้ตั้งกองทุนฯ ก็เสมือนเป็นการทำให้หลายๆ ฝ่ายเข้ามาให้ความสนใจกับปัญหาคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ

“ในทางอ้อมกองทุนนี้ทำให้เกิดความสำคัญของกลุ่มคนชายขอบที่เริ่มถูกมองเห็น เฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอนมีกลุ่มคนเหล่านี้มากถึง 1 ใน 4 หลังมีการสำรวจ ไม่ใช่แค่เพียงกองทุนคืนสิทธิเท่านั้นแต่ยังทำให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงไปหนุนด้วย ทำให้ทราบว่ามีผู้ยากไร้ กลุ่มคนที่มีปัญหาด้านสิทธิ ไม่ใช่แค่ปัญหาสถานะล้วนๆ ผมคิดว่ากองทุนก่อให้เกิดสิทธิด้านอื่นๆ ที่ยังมองไม่เห็น” วิสุทธิ์เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง

แม้กองทุนฯจะเกิดประโยชน์อย่างมากแก่กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ แต่สำหรับคนกลุ่มนี้ซึ่งเสมือนชนชายขอบของการได้รับสิทธิด้านต่างๆ ความไม่รู้ ความด้อยโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารยังเป็นอุปสรรคสำคัญ

จ่ามอ่อง ลุงมู หนุ่มวัย 27 ปี ชาวบ้านต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่ง เคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ หลังจากเกิดอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬาฟุตบอลจนทำให้กระดูกข้อมือเคลื่อน เล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีสิทธินี้ เมื่อเจ็บไข้ไม่สบาย ก็จะหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลแล้วไปคลินิก ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 300-400 บาท อีกสาเหตุหนึ่งคือชาวบ้านรู้สึกว่าการไปโรงพยาบาลนั้นต้องรอนาน กระทบต่อการประกอบอาชีพ

“เขามองว่าไปโรงพยาบาลรัฐต้องรอนาน และไม่ต่างกับไปคลินิกเพราะได้แค่ยาแก้ปวดมากินเหมือนๆ กัน เผลอๆ การไปโรงพยาบาลจะแพงกว่าคลินิกอีก” จ่ามอ่องสะท้อนความคิดของชาวบ้านต่อกองทุนฯ

จ่ามอ่องเล่าถึงประสบการณ์ตรงของตัวเองว่า อุบัติเหตุจากการเล่นฟุตบอลที่ทำให้กระดูกข้อมือเคลื่อน ทำให้เขาต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่ เพราะหากไม่รักษาก็เสี่ยงที่มือและแขนจะบิดเบี้ยวผิดรูป เข้าไปรักษาตัวด้วยความกังวล โดยที่ยังไม่รู้ว่ามีสิทธิรักษาพยาบาล

“ตอนแรกยังไม่รู้ว่ามีสิทธิที่ได้รับอยู่แล้ว ตัวผมให้เพื่อนไปจัดการเอกสารให้เพราะผมปวดแล้วก็นอนอยู่บนเตียง เพื่อนก็ไปเดินให้แล้วมาบอกว่าจัดการให้แล้วนะ ยื่นช่องบัตรให้แล้วตอนนั้นทางโรงพยาบาลก็ยังไม่ได้แจ้งว่าเรามีสิทธิการรักษาอะไรบ้าง มารู้ตอนรักษาเสร็จแล้วว่าเสียแค่นี้นะ เขาก็ไม่ได้บอกเราด้วยว่าเป็นสิทธิอะไร ได้มาเพราะอะไร ก็ไม่ได้บอก เราก็เลยรู้ว่ารัฐบาลก็ยังมีตรงนี้อยู่ ผมเองไม่เคยไปลงทะเบียนรับสิทธิ แต่เอาบัตรที่ใช้ไปเช็คกับทางโรงพยาบาลถึงรู้ว่ามีสิทธิตัวนี้ให้ผม”

ในมุมมองของผู้ใช้บริการจากกองทุนฯ จ่ามอ่องมองว่า อยากให้การดำเนินงานต่างๆ ของกองทุนมีความเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะอุปสรรคสำคัญคือปัญหาด้านการสื่อสาร ซึ่วสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยหนุ่มสาวอย่างเขานั้นไม่มีปัญหาอะไร เพราะอ่านเขียนภาษาไทยได้ แต่สำหรับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ขึ้นไปแล้วยังพบว่ามีปัญหา

“เรื่องการสื่อสารยากครับ ถ้าเป็นพ่อหรือแม่ผม หมอถามว่าอาการเป็นอย่างไร เขาจะตอบภาษาบ้านๆ เขา บอกว่าเจ็บตรงนี้ เขาจะชี้ หมอก็จะถามอีกว่าเจ็บตรงซี่โครงใช่มั้ย เขาก็จะไม่รู้ว่าซี่โครงคืออะไร แล้วคุณหมอจะถามอีกว่าความเจ็บถ้าเต็ม 10 ให้เท่าไร ชาวบ้านนี่งงเลย อะไรคือเต็ม 10 ถ้าถามว่าเจ็บมากเจ็บน้อยพอได้อยู่ครับ”

ปัญหาการสื่อสารและความเข้าใจคืออุปสรรคสำคัญ ไม่เพียงแต่การสื่อสารกับกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะซึ่งเป็นผู้รับบริการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาการสื่อสารกับสังคมโดยรวม ซึ่งวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ นักพัฒนาเอกชนที่ทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิกลุ่มคนชาติพันธ์ มองว่า ไม่มีมีการสื่อสารให้สังคมไทยได้เข้าใจเลยว่ากองทุนนี้มีประโยชน์กับสังคมโดยรวมอย่างไร

วิสุทธิ์อธิบายว่า วาทะกรรมในการอธิบายเกี่ยวกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะคือคนพวกนี้มาอาศัยแผ่นดิน ซึ่งเป็นการมองแบบแบ่งแยก โดยไม่เคยมีการอธิบายให้เข้าใจว่า หากคนเหล่านี้อยู่ดีมีสุข ก็หมายความว่า ประเทศไทยจะมีแรงงานที่ดี มีความเป็นมนุษยธรรม ซึ่งจะเป็นระบบทชนิเวศน์ที่ทำให้ทั้งประเทศเคลื่อนไปได้

“เราต้องทำให้เขาดีขึ้นด้วยไม่ใช่ว่าเราอยู่บนขาเดียวแล้วให้เขาแยกไปอีกอัน จุดนี้การออกแบบการสื่อสารแต่แรกมันผิด พอแยกแล้วรวมไม่ได้ พอออกแบบเรื่องกองทุนคืนสิทธิแล้วคนเหล่านี้เกี่ยวอย่างไรกับความเจริญก้าวหน้าของประเทศเรา หรือความมั่นคงของประเทศ ตอบไม่ออก พอตอบไม่ออกแล้วคนไทยก็ไม่สน หรือคนที่มีพลังในกองทุนก็เฉยๆ เหมือนคนบางกลอยที่กลายเป็นแค่คนกะเหรี่ยง คนที่น่าสงสารแต่เขาเริ่มระดับไปสู่เรื่องมนุษยธรรมซึ่งมันสูงขึ้นแล้ว เขาต้องไล่ระดับ ตรงจุดนี้ผมคิดว่ามันต้องมีกระบวนการสื่อสารทางสังคมที่เจ๋งๆ แล้วมีทีมที่คิดกลยุทธ์ตรงนี้”

วิสุทธิ์ยกตัวอย่างการออกแบบกระลวนการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องคนไร้สัญชาติในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอนที่เขารับผิดชอบอยู่ โดยทำให้คนในพื้นที่มองเห็นว่า หากขาดคนกลุ่มนี้แล้วใครจะมาเป็นแรงงาน จะหาช่างฝีมือสำหรับศาสสถาน วัดวาอารามต่างๆ จากที่ไหน แต่สำหรับการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมไทยโดยรวมต้องสร้างกลยุทธ์การสื่อสารขึ้นมา ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเรื่องของเอ็นจีโอบางกลุ่ม หรือหมอบางพวก ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่สามารถที่จะก้าวพ้นจากวาทกรรม ทำไมต้องไปรักษาคนที่ไม่ใช่คนไทย’ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดปัญหามากที่สุด