ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาสังคมร่วมประกาศเจตนารมณ์  จี้รัฐบาลเป็นหุ้นส่วนพัฒนาบนพื้นฐานประชาธิปไตย “อภิสิทธิ์” เสนอ 5 ข้อทางออก หลังรัฐบาลผ่านร่างกม.คุมNGO ห่วงบีบไร้อิสระ 

 

​​​​ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัด 8 จังหวัด  จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ประชาสังคม : ควบคุม VS ส่งเสริม”  ซึ่งมีการถกประเด็นร่าง  พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน  พ.ศ. ...  ​ที่ภาคประชาสังคมเกิดข้อกังวลว่า กฎหมายดังกล่าวจะกีดกันการมีส่วนร่วมภาคประชาชน  และควบคุมการทำกิจกรรมเพื่อสังคม 

​ในการประชุม เครือข่ายภาคประชาสังคมได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์  เพื่อให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานองค์กรภาคประชาสังคม โดยภาคประชาสังคม 8  จังหวัด ​ประกอบด้วย ลำพูน  พะเยา สุพรรณบุรี  ระยอง สุรินทร์ อำนาจเจริญ  พัทลุง สตูล และเครือข่ายต่างๆ รวมทั้ง ภาครัฐ เอกชน  ​​ประกาศเจตนารมณ์ว่า ภารกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องตอบสนองครอบครัว นิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่น   โดยการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย 

​​​​นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปัจฉิมกถา บทบาทภาคประชาสังคมกับหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน  ถึงกรณีที่มีร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคม ว่า  จากการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งกัน พ.ศ. .... หรือเรียกได้ว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ควบคุม NGO  ไม่เชื่อว่าจะมาจากกระบวนการภาคประชาสังคมจริง  หลายครั้งที่อยากได้ส่งเสริมเพื่อส่งเสริม แต่กลับกลายเป็นกฎหมายเพื่อควบคุม ซึ่งการอาศัยงบประมาณของราชการ สิ่งที่ต้องระวัง คือ ความเป็นอิสระ การเดินหน้ากฎหมายจึงต้องทำอย่างรัดกุม เป็นไปตามหลักการที่อิสระของภาคประชาสังคม

​“ 5 ข้อเสนอทางออกให้ภาคประชาสังคม คือ  เรื่องที่ 1 สิ่งที่ภาคประชาสังคมจะขับเคลื่อนได้มีประสิทธิภาพ คือ หัวใจการเข้าถึงข้อมูล โดยผมเคย​ทำกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่ง ณ ขณะนั้นก็ถือว่าเป็นกฎหมายก้าวหน้า แต่ปัจจุบันใช้มา 20 กว่าปีก็ยังไม่ตอบโจทย์ และปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ​กฎหมายนี้ จึงควรต้องมีการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาสังคมในการใช้ข้อมูลของทางราชการ ”  นายอภิสิทธิ์ กล่าว

​นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องที่ 2 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน  ต้องจัดระบบการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายที่ผู้มีส่วนได้เสียควรต้องเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่การแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์หน่วยงานรัฐ  เพราะตนไม่แน่ใจว่า เมื่อแสดงความคิดเห็นแล้วมีการอธิบายหรือมีการนำไปใช้อย่างไรต่อ    เรื่องที่ 3 ระบบเงินอุดหนุนที่เป็นอิสระ  ซึ่งก็มีต้นแบบ สสส.  หรือกองทุนความเท่าเทียมการศึกษา   แต่ก็ต้องพิจารณาให้ดีว่า อะไรเหมาะสม อะไรเป็นไปได้    เรื่องที่ 4  หากเราเห็นว่ามีหน่วยงานไหนบ้างที่ไปทำงานกับโครงการใดและมีผลกระทบต่อพื้นที่ต่อชุมชน จะทำอย่างไรให้หน่วยงานเหล่านั้นสามารถที่จะดึงภาคประชาสังคมไปทำงานร่วมกันได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ไม่ขัดกฎระเบียบ  ซึ่งจริง ๆ องค์กรที่น่าจะทำลักษณะนี้ได้ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องหาทางปรับกฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาทำงานกับภาคประชาสังคมได้ และ เรื่องที่ 5  ต้องมีกระบวนการเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม โดยควรทำเป็นระบบมากขึ้น

​“ที่ผ่านมา การใช้งบประมาณ สำหรับหน่วยงานแบบเฉพาะ​ เริ่มต้นขึ้นเพื่ออยากให้มีอิสระในการทำงาน แต่สุดท้ายพบว่า หน่วยงานเหล่านี้ก็เจอวิบากกรรม รัฐมีการออกวิธีใช้งบประมาณที่เปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้น ทำให้ไม่มีอิสระ เพราะหากรับไปก็อาจเป็นการเปิดประตูให้เกิดประชาสังคมเทียม”​  นายอภิสิทธิ์ กล่าว