ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยข้อมูลจำนวนขยะพลาสติกตั้งแต่โควิดระบาดพบมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจเดลิเวอรี่ การใช้ถุงใส่อาหาร ด้านผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกระบุหากสามารถยกระดับการรีไซเคิลจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการ PPP Plastics ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก และวันทะเลโลก ภายใต้งานเสวนา หัวข้อ “ขยะพลาสติก : การจัดการและโอกาส Post COVID-19” (หาทางออก เพิ่มโอกาส สร้างรูปแบบที่สมดุล มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน)  ผ่านระบบการประชุมแบบออนไลน์ (ระบบ Zoom) โดยมีวิทยากรเข้าร่วมได้แก่ ดร.อัษฎาพร ไกรพานนท์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics ,นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันพลาสติก และ ดร.ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastic กล่าวว่า การรณรงค์ให้ประชาชนลดและเลิกใช้พลาสติกที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง แต่หลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชีวิตแบบ New normal ทำให้มีปริมาณการใช้พลาสติกเพิ่มมากขึ้น

"เป้าหมาย PPP Plastic สนับสนุนการขับเคลื่อนโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 โดยมี 2 เป้าหมายคือ 1 การลดและเลิกใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2 การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ แบบ 100 เปอร์เซนต์ ภายในปี 2570" ประธาน PPP Plastic กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินงานตามเป้าหมาย ผ่านการขับเคลื่อนจาก 6 เสาหลักกิจกรรม ได้แก่ การพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนานโยบายและกฎหมาย การพัฒนาฐานข้อมูลขยะพลาสติก การสื่อสารประชาสัมพันธ์และการศึกษา การพัฒนานวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม และ การบริหารจัดการโครงการ ,ระดมทุน

"การก้าวสู่สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรามีเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ต้องลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 จากปัจจุบันโดยการหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่ม GDP ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านใน 10 ปี หรือคิดเป็น 1 เปอร์เซนต์ของ GDP ด้วยเศรษฐกิจรูปแแบบใหม่ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 2 ล้านตัน"  ดร.วิจารย์ กล่าว

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า ประโยชน์ของพลาสติกช่วงโควิดในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจเดลิเวอรี่หรือการส่งอาหารไปถึงที่พักเติบโตขึ้น 78-84 เปอร์เซนต์ ขณะเดียวกันการขยายตัวจากปีก่อนก็อาจผลักดันให้ตลาดเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวเร็วขึ้น

"เพื่อตอบรับรูปแบบการใช้ชีวิตลักษณะวิถีชีวิตใหม่ หรือ New normal พลาสติกจึงเข้าไปมีส่วนร่วมต่อการดำเนินชีวิตในสังคมมากขึ้น เป็นการตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยของชีวิต ในขณะที่ด้านสาธารณสุข พลาสติกถูกนำมาผลิตเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เนื่องจากมีน้ำหนักที่เบา สะอาดปลอดภัย ใช้งานได้ในหลากหลายสภาวะและผลิตจำนวนมากได้ในเวลาที่รวดเร็ว นอกจากนี้ประโยชน์ของพลาสติกช่วงโควิดในมิติสิ่งแวดล้อม พิจารณาจากการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์โดยดูจากการใช้ทรัพยากร การก่อให้เกิดมลพิษและการสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์รวมทั้งการนำไปกำจัด พบว่าพลาสติกแสดงผลกระทบต่อ Climzte Change หรือภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าวัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติ" ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าว

ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของวงจรเศรษฐกิจ ด้วยนโยบายภาครัฐด้าน BCG โมเดล (Bio-Circular-Green Econcmy) และการเกิดวิกฤตโควิด จะยิ่งทำให้วงจรเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมพลาสติกถูกนำมาใช้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าและสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมพลาสติกยิ่งขึ้น

"การยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพของการรีไซเคิลโดยเฉพาะการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ การสร้างมาตรฐานระบบการรองรับวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของ Post Consumer Recycle (PCR)เพื่อส่งเสริมวงจรเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยสถาบันพลาสติกและ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สร้างมาตรฐานระบบการรับรองวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์พลาสติก รวมถึงศูนย์วิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์พลาสติกและวัตถุดิบที่ผสม PCR" นายวีระ กล่าว

ด้าน ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ปริมาณขยะกำจัดที่ปลายทาง ข้อมูลระหว่างเดือน ต.ค. 2563- เม.ย. 2564 ปริมาณขยะที่กำจัดมีสูงถึง 8,654 ตันต่อว่า ในขณะที่ปี 2563 ที่ผ่านมาทั้งปี มี 9,519  ตันต่อวัน

จากข้อมูล องค์ประกอบมูลฝอยช่วงโควิดระบาด พบว่าพลาสติกสภาพดี ปี 2563ที่ผ่านมา มีปริมาณคิดเป็นร้อยละ 7.04 โดย 6 เดือน ตั้งแต่ปีงบประมาณปี 2564 มีพลาสติกสภาพดีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.07 ส่วนพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 29.58 และปีนี้ 6 เดือนแรกมีค่าเฉลี่ย 19.28 ซึ่งตัวเลขนี้สามารถบอกได้ว่าช่วงโควิดระบาดมีการใช้พลาสติกเพิ่มมากขึ้นกว่าก่อนๆที่ยังไม่มีวิกฤตโควิด

"ยุทธศาสตร์การจัดการขยะในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ.2556-2575 ทาง กทม.มีการบริหารจัดการมูลฝอยและของเสียอันตรายด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์โดยนำกลับมาใช้ใหม่และทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุด กำจัดเศษที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล" ดร.ภาณุวัฒน์ กล่าว

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org