ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ข้อควรระวัง ถ้าอยากลงโทษเด็กด้วยการให้นั่งเงียบๆ"

เวลาที่เด็กทําผิด พ่อแม่ ผู้ดูแลสามารถเลือกวิธีการลงโทษได้หลายรูปแบบ ไม่จําเป็นต้องใช้การตีหรือดุด่า ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมสําหรับใช้ปรับพฤติกรรมลูกหลาน วิธีหนึ่งที่นักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กแนะนําคือ การให้เด็กได้นั่งสงบสติอารมณ์เงียบๆ คนเดียวสักพัก เหมาะสําหรับปรับพฤติกรรมเด็กอายุหนึ่งขวบครึ่งขึ้นไปจนถึงสามหรือสี่ขวบ ซึ่งมีกฎกติกาดังนี้


1. ต้องมีการตกลงกันล่วงหน้า
พูดคุยทําความเข้าใจกับเด็กก่อนว่าพฤติกรรมแบบไหนบ้างที่เด็กจะถูกลงโทษด้วยวิธีการให้นั่งเงียบๆ คนเดียว ไม่ใช่นึกอยากทํา ก็ทํา ต้องอธิบายให้ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน

2. เลือกสถานที่ให้เหมาะสม
มั่นใจว่าเด็กยังอยู่ในสายตาตลอดเวลา ไม่ขังเด็กในห้องนํ้า ห้องนอน หรือให้ออกไปอยู่ที่ระเบียงบ้าน แต่ก็ต้องไม่ให้มีของเล่นหรือกิจกรรมอื่นๆ ในห้องนั้นมาดึงดูดความสนใจของเด็ก ต้องให้เด็กนั่งเงียบๆ จริงๆ  

3. กำหนดเวลาให้ชัดเจน
เช่น เวลา 1 นาที ต่ออายุ 1 ปี ถ้าเด็กอายุสามขวบก็ให้อยู่เงียบๆ 3 นาที เป็นต้น

4. ผู้ใหญ่ต้องใจแข็ง ไม่พูดไม่แสดงกริยาอาการใดๆ
แม้ลูกหลานจะร้องไห้ โวยวาย กรีดร้องเสียงดังก็ตาม เพื่อสอนให้เด็กเรียนรู้วิธีควบคุมตัวเอง ถ้าพ่อแม่ผู้ใหญ่หนักแน่นในการใช้วิธีนี้ เด็กจะค่อยๆ ร้องไห้น้อยลงไปเรื่อยๆ จนไม่ร้องเมื่อถูกลงโทษ เพราะได้เรียนรู้ถึงการไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้

5. หากเด็กเลือกใช้วิธีทำร้ายตัวเอง หรือไม่ยอมนั่งนิ่งๆ ให้จับตัวเด็กนั่งบนตัก
กอดเด็กไว้แน่นๆ แต่ไม่พูดอะไรจนกว่าจะครบเวลาที่กำหนด แล้วค่อยอธิบายให้ฟังสั้นๆ ว่าทำไมจึงต้องลงโทษ

6. ไม่ควรใช้เกินวันละ 1 ครั้ง
หากเด็กดื้อและทำผิดบ่อยๆ ให้หาวิธีปรับพฤติกรรมอื่นๆ สลับทดแทน

7. ให้ทางเลือกอื่นในการลงโทษหากเด็กไม่ยอมรับวิธีนี้
ผู้ใหญ่ควรใช้วิธีพูดให้ทางเลือกแก่เด็ก เช่น “จะไปนั่งเงียบๆ ที่โต๊ะกินข้าว 3 นาที อย่างที่เราตกลงกันไว้ หรือจะให้ยึดของเล่น และไม่ได้เล่นเกม 3 วัน เลือกเอา”