ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดแผนนำเข้าวัคซีนโควิดประเทศไทย ชี้แอสตร้าฯ ส่งมอบ 61 ล้านโดสปี 64 แต่ไม่ได้ระบุในสัญญาเดือนละเท่าไหร่ ขณะที่กำลังผลิตเฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านโดส ต้องแบ่งตปท. ไทยจะได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ต้องนำเข้าวัคซีนชนิดอื่น ผอ.สถาบันวัคซีนชี้วัคซีนไฟเซอร์ ไม่น่าได้ไตรมาส 3 นอกจากนี้ ยังเจรจาวัคซีนอื่นเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูต หรือ จัดหาแบบรัฐต่อรัฐ

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา "วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร" ว่า เรื่องการจัดหาวัคซีนมีอยู่ 2 ส่วน คือการวางแผนจัดหา และการได้มาซึ่งจำนวนวัคซีนจริงๆ ซึ่งเราได้เตรียมการจัดหาแล้วควบคู่กับการขยายกำลังการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งกำลังการฉีดของเราขยายแล้วอยู่ที่ราวๆ 10 ล้านโดส จึงพยายามจัดหาทุกแหล่งมาใช้ในระยะเร่งด่วน ซึ่งก็คือวัคซีนซิโนแวค เข้ามาตั้งแต่ก.พ. - มิ.ย. 9.5 ล้านโดส รวมที่รัฐบาลจีนบริจาคให้ด้วย

ทั้งนี้ในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของเรา มีการทำสัญญาส่งมอบ 61 ล้านโดสในปี 2564 แต่ไม่ได้ระบุในสัญญาว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อดูกำลังการผลิตของแอสตร้าฯ โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ อยู่ที่ประมาณ 180 ล้านโดสต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 15 ล้าน ต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้กับต่างประเทศด้วย ซึ่งเราเองพยายามขอให้จัดส่งให้ไทยเดือนละ 10 ล้านโดส อย่างไรก็ตามตามที่ได้รับจดหมายมาจากรองประธานบริษัทแอสตร้าฯ บอกว่าจะส่งมอบให้ไทยได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนและความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยเดือนละ 10 ล้านโดสนั้น เราจึงต้องหากวัคซีนจากแหล่งอื่นเข้ามาเสริม

“การจะใช้กฎหมายห้ามส่งออกแล้วเอาวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งหมดมาใช้ในประเทศก็ทำได้ แต่ส่วนตัวผมมองว่าจะมีผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่เป็นคู่ค้าของแอสตร้าฯ ที่มีสัญญาต้องได้รับจากแหล่งผลิตในประเทศไทย ใจเขาใจเรา ถ้าประเทศที่เป็นแหล่งผลิต ห้ามส่งออกแล้วประเทศไทยยังรอวัคซีนอยู่ เราเองก็คงรู้สึกโกรธ และโกรธทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่โกรธคนใดคนหนึ่ง กระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาก ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนการฉีดวัคซีนของประเทศสถาบันฯ และกรมควบคุมโรคก็เจรจราซิโนแวคเข้ามาใช้ในก.ค. , ส.ค.นี้” นพ.นคร กล่าว

ผอ.สถาบันวัคซีนฯ กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีน mRNA พยายามจัดหาอยู่ โดยเจรจากับไฟเซอร์ ตอนแรกว่าจะส่งมอบไตรมาส 3 หรือประมาณ ส.ค. แต่เมื่อส่งใบจอง แล้ว เขาแจ้งว่าไตรมาส 3 เป็นไปได้ยาก จะส่งได้ไตรมาส 4 ประมาณ ต.ค. และ พ.ย. จำนวน 20 ล้านโดส ขณะนี้กำลังต่อรอง พยายามขอว่าหากเป็นไปได้ขอให้ส่งให้เร็วที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

นอกจากนี้ ยังร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มีการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูตหรือการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ มีทั้งวัคซีนของประเทศคิวบา เป็นซับยูนิตโปรตีน ตัวแรกที่แสดงผลออกมามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 92% น่าสนใจเพราะเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย รวมถึงเจรจราวัคซีน mRNA จากเจ้าอื่นด้วย รวมถึงวัคซีนเคียวแวค ของเยอรมันก่อนหน้าจะประกาศผลก็เจรจรา ขอข้อมูลเชิงลึกกันอยู ตอนนี้เมื่อเขาประกาศผลแล้วก็รอดูท่าทีว่าเขาจะพัฒนาต่อหรือไม่ ก็จะคุยต่อเพราะเป็นรูปแบบที่น่าสนใจไม่แพ้ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา และในปีหน้าจะจัดหาวัคซีนตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้น

เมื่อถามว่ามีข่าวว่าเรายังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาสั่งซื้อไฟเซอร์เลย นพ.นคร กล่าวว่า ตามขั้นตอนต้องมีการสั่งจองก่อน ซึ่งเราสั่งจองไปแล้วตั้งแต่ มิ.ย.เป็นการล็อคยอดแล้ว 20 ล้านโดส อยู่ระหว่างการทำสัญญาสั่งซื้อ แต่ระยะเวลาถูกเลื่อนส่งไปไตรมาส 4 ซึ่งเป็นข้อจำกัดของวัคซีน ถ้าผลิตได้ไม่มากพอเท่าที่คาดการณ์ กระบวนการทุกอย่างก็ต้องถูกเลื่อนไป รวมถึงการส่งมอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อสักครู่ก็เพิ่งนั่งดูสัญญากันอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดที่ผู้ซื้อต้องยอมเสียเปรียบ และเป็นความเสียเปรียบในภาพรวมของประเทศ ดังนั้นเราต้องปรึกษาไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานกฤษฎีกา หรือแม้กระทั่งขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เมื่อถามว่าทำไมเพื่อนบ้าน ได้วัคซีนแล้วในเดือน ส.ค. นี้ นพ.นคร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าเขาจองวัคซีนเมื่อไหร่ ยอมรับว่าเราจองได้ช้ากว่าเขา เพราะเราพูดคุยแล้ว จองแล้ว แต่กระบวนการใช้เวลา เมื่อจองช้ากว่าก็ต้องยอมรับ ระหว่างนี้ ไตรมาส 3 จะมีวัคซีนตัวอื่นๆ เข้ามาหรือไม่นั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เท่าที่สืบค้นยังมีแค่วัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีนทั้งซิโนแวค และซิโนฟาร์ม อย่างไรก็ตาม หากมองวัตถุประสงค์ในการใช้วัคซีนให้เต็มประโยชน์ที่มีในช่วงเวลานี้ที่มีซิโนแวค และแอสตร้าฯ ยังสามารถป้องกันป่วยรุนแรง และเสียชีวิตได้สูง แม้เจอเชื้อกลายพันธุ์ ส่วนข้อมูลที่มีนักวิชาการเอาเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนไปทำปฏิกิริยากับไวรัสในหลอดทดลอง ก็เป็นตัวทำนายผลการป้องกันโรคทั่วไป ยอมรับว่าได้ผลลดลง แต่ก็ลดลงทุกตัว

ส่วนเรื่องการป้องกันการป่วยหนัก และการเสียชีวิตนั้นเป็นเรื่องของการเอามาใช้จริงถึงจะเห็นผล ซึ่งมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่อังกฤษ มีการฉีดวัคซีนทั้งแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ ครอบคลุมประชากร 50% ทำให้อัตราป่วยลด 5-6 พันราย แต่พอเจอการระบาดสายพันธุ์เดลตาก็พบว่าตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2 หมื่นราย แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้น แสดงว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพดีในเรื่องการป้องกันการเสียชีวิต และลดภาระระบบบริการทางการแพทย์ นึกภาพดูว่าถ้าเรามีผู้ป่วยในมือจำนวนมาก การดูแลให้ทั่วถึงก็น้อยลง ก็มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้นหากผู้ป่วยหนักลดลง ผู้เสียชีวิตก็จะลดลงด้วย ดังนั้นตนขอเป็นอีกหนึ่งเสียงในการยึดเป้าหมายที่สำคัญคือการลดการป่วยหนัก และการเสียชีวิต เราต้องฉีดวัคซีนให้ตรงกลุ่มคือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคร่วม

นพ.นคร กล่าวด้วยว่า สำหรับการฉีดวัคซีนบู๊สเตอร์ หรือฉีดเข็ม 3 นั้น ขณะนี้ทีมวิชาการ และอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมเป็นอย่างไร การฉีดซ้ำตัวไหนเป็นอย่างไร เช่น ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นด้วยซิโนแวคเข็ม 3 แล้วภูมิเป็นอย่างไร หรือ ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ เป็นอย่างไร หรือซิโนแวค 2 เข็ม ซ้ำด้วยวัคซีน mRNA ภูมิคุ้มกันจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดเพื่อจะตอบโจทย์ว่าแล้วถ้าปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นต่อจะสู้เชื้อเดลตาได้หรือไม่ จะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจใช้วัคซีนได้แม่นยำมากขึ้น จะใช้เวลาในช่วงก.ค.-ส.ค.นี้ ทั้งนี้เมื่อเมื่อออกมาแล้วเชื่อว่าบุคลากรการแพทย์ และผู้สูงอายุ และมีโรคร่วมก็จะเป็นกลุ่มแรกๆ เช่นกัน เป็นไปตามลำดับความสำคัญ ส่วนวัคซีนภาพกว้าง เมื่อมีวัควีนมากขึ้นเราค่อยขยายวัคซีนให้กลุ่มที่ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

“หมอคำนวณ” เสนอทางเลือกลดวิกฤตโควิดระบาด ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง “ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง”

“หมอทวี” เผยข้อแตกต่างวัคซีนซิโนแวค -แอสตร้าเซนเนก้า -วัคซีน mRNA กับสายพันธุ์เดลตา