ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รุกขยาย “ดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวในชุมชน” วางระบบการดูแลที่เป็นมาตรฐาน แนะต้องไม่ต่างจาก Hospitel มุ่งสร้างความมั่นใจประชาชน เตรียมเสนอ “คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ” 12 ก.ค. นี้ พิจารณาแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวในชุมชนให้มีกฎหมายรองรับ ขณะที่ สปสช. พร้อมสนับสนุน ออกแบบกลไกเบิกจ่าย แยกค่าบริการตามรายการ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินระบบ    

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation) เนื่องจากขณะนี้เราเจอผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยอัตราผู้ป่วยครองเตียงเพิ่มสูงขึ้นหนึ่งหมื่นรายภายใน 1 เดือน ขณะที่ผู้ป่วยวิกฤตมีจำนวนถึง 400 รายแล้ว ทำให้เตียงผู้ป่วยไม่พอ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแล ซึ่งตั้งแต่เดือนเมษายนที่มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่แต่ละวันเริ่มขยับขึ้นเป็นหลักพัน กรมการแพทย์ได้เตรียมแนวทางและจัดทำเกณฑ์การดูแล Home Isolation ไว้แล้ว ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถีนำร่องดูแลผู้ป่วยด้วยแนวทางนี้ 18 ราย โดยความยินยอมของผู้ป่วย ซึ่ง รพ.ได้มอบที่วัดไข้ วัดค่าออซิเจนปอดด้วยการออกกำลังกาย เอกซเรย์ปอดในรายที่จำเป็น และมีระบบติดตาม ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่กลับเข้ารักษาที่ รพ.เพียง 2 ราย ขณะที่ปัจจุบันใน รพ.สังกัดกรมการแพทย์มีผู้ป่วยในระบบ Home Isolation แล้วเกือบ 100 ราย

คนไข้กลุ่มนี้นอกจากเป็นผู้ป่วยที่รอการรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาที่ รพ.มาแล้ว 10 วัน จนมีอาการดีขึ้น ไม่ต้องใช้ออกซิเจน และสามารถกลับไปดูแลต่อที่บ้านจนครบ 14 วันได้ โดยในส่วนผู้ป่วยที่รอเข้ารักษาที่โรงพยาบาลนั้น เรายอมรับว่ามีความเสี่ยงอยู่ ทั้งกับผู้ป่วยและชุมชน เพราะผู้ป่วยที่อยู่บ้านอาจมีอาการแย่ลงได้หากไม่ได้รับการดูแลที่ดี ขณะเดียวกันหากไม่มีการแยกผู้ป่วยดูแลได้จริงก็อาจทำให้เชื่อแพร่กระจายเชื้อได้ แต่ด้วยสถานการณ์เตียงเต็ม หมอ พยาบาล ที่เหนื่อยแล้ว ทำให้ต้องนำระบบนี้มาช่วย   

ในการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว ในส่วนของ Home Isolation ในทางกฎหมายรองรับไม่เป็นปัญหา เนื่องจากเป็นการดูแลที่ผู้ป่วยลงทะเบียนกับ รพ. โดยตรง แต่ในส่วนของ Community Isolation ทราบว่าทาง กทม. เตรียมออกประกาศเพื่อเปิดช่องทางนี้อยู่ อย่างไรก็ตามในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 กรมควบคุมโรค จะนำการจัดระบบ Community Isolation เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติเพื่อพิจารณาเห็นชอบและให้มีกฎหมายรองรับในการดำเนินการ  

พญ.นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า ช่วงเริ่มต้นสถานการณ์โควิด-19 เราอาจเคยได้ยินตัวเลข 80 : 15 : 5 นั่นคือสัดส่วนกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเขียว สีเหลือ และสีแดง และปัจจุบันตัวเลขก็ยังเป็นแบบนั้น แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนเตียงรองรับใน รพ.ไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นที่เราต้องแยกผู้ป่วยสีเขียวออก เพื่อให้มีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยสีเหลือและสีแดงโดยไม่ต้องรอ จึงต้องมีการจัดทำระบบ Home Isolation และ Community Isolation โดยการสนับสนุนทั้งจากกรมการแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะทำให้ระบบมีความพร้อมและเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ช่วยลดอัตราเสียชีวิตและติดเชื้อได้

การดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวในชุมชน เป้าหมายคือทำอย่างไรให้มาตรฐานการดูแลไม่ด้อยกว่าที่ Hospitel เพราะโรคนี้ทำให้เกิดภาวะปอดบวมเงียบได้ จึงต้องไม่ใช่แค่การวัดไข้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องวัดค่าออกซิเจน และการเอกซเรย์ปอดที่เป็นการแยกอาการเพื่อดูแล เพราะแต่เดิมผู้ป่วยใช้เวลารอเตียงเพียง 2-3 วัน แต่ปัจจุบันต้องใช้ระยะเวลารอที่นาน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าต้องทำทั้งหมด แต่เป้าหมายคือให้มีการคัดกรองที่ดี รวมถึงให้มีการนำส่งยารักษามาไว้ในชุมชน เพราะระบบนี้จะเดินหน้าได้เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ให้เห็นว่าเราตั้งใจทำระบบนี้ขึ้นเพื่อดูแล ไม่ใช่ทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งจากสายด่วน สปสช. 1330 ที่ได้รับประสานหาเตียง ในจำนวนนี้ 50 รายยินดีเข้าสู่ระบบ Home Isolation และ Community Isolation      

 “ผู้ป่วยโควิด-19 ร้อยคน 80 คน เป็นกลุ่มสีเขียวที่อาการไม่รุนแรงและหายเอง แต่ข้อมูลนี้เราคงบอกปากเปล่าไม่ได้ แต่ต้องมีระบบรองรับที่ให้มั่นใจ โดยที่ไม่ต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล เพื่อเก็บกำลังบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยหนัก และจากการทำงานร่วมกับ รพ.ปิยะเวท ที่จับคู่กับ 23 ชุมชน เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียวในชุมชน ทุกคนเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร ซึ่งการเอกซเรย์ปอดเป็นสิ่งจำเป็นในกลุ่ม Community Isolation ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีไม่มาก รพ.ปิยะเวทจึงนำรถมารับผู้ป่วยเพื่อเอกซเรย์ที่ รพ. แทนการใช้รถเอกซเรย์”    

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการสนับสนุนการบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ตามระบบการดูแลของกรมกรแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข สปสช.ได้ออกแบบกลไกเบิกจ่ายตาม เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งการจัดระบบ Home Isolation และ Community Isolation เราได้แยกรายการเบิกจ่ายที่ทำให้เกิดความสะดวก และไม่เป็นภาระโรงพยาบาลที่ต้องทำทั้งหมด เช่น เอกซเรย์ก็แยกจ่ายต่างหาก ในกรณีที่ รพ.ไม่มีรถโมบายยูนิตเข้าไปบริการ ก็สามารถดึงเอกชนร่วมได้ แยกค่าอาหารผู้ป่วย 3 มื้อ เพื่อให้จับมือกับฟู๊ดเดลิเวอรี่ส่งอาหารผู้ป่วย โดยที่โรงพยาบาลไม่ต้องนำอาหารไปส่งเอง เป็นต้น เพื่อให้ รพ.เน้นที่การรักษาดูแลผู้ป่วย

อย่างไรก็ตามวันนี้ รพ.ปิยะเวท ได้วางแผนระบบบริการ Home Isolation และ Community Isolation  ที่เป็นรูปธรรมแล้ว โดยเชื่อมต่อระบบกับชุมชน โดยในโรงพยาบาลแพทย์และพยาบาลจะคอยดูแลผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ส่วนกลุ่มสีเขียวจะดูแลโดยชุมชน ขณะเดียวกัน รพ.ก็ได้เริ่มคัดกรองผู้ป่วยที่รับการรักษาที่ รพ.มา 10 วัน เพื่อให้รับดูแลต่อเนื่องด้วยระบบใหม่นี้ และมีเตียงว่าง ทั้งหมดนี้เพื่อให้ระบบสามารถรอบรับผู้ป่วยได้

 “Community Isolation ต้องเกิดจากคนในชุมชน ส่วนเรื่องจะเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานใดมองว่าไม่ใช่เป็นประเด็น แต่เรื่องนี้คนในชุมชนจะต้องตื่นตัว ซึ่งการสนับสนุนค่าบริการนี้ กองทุนบัตรทองไม่เป็นปัญหา เพียงแต่เราต้องใช้ทุกกลไกที่มีเพื่อทำให้มีระบบที่มีรอบรับดูแลผู้ป่วยโควิดในภาวะวิกฤตนี้ได้” นพ. จเด็จ กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org