ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.ชี้งบ 180 ล้านจัดซื้อ ATK เป็นงบกลางปี 2564 ที่ขอมาก่อนหน้านี้ เพื่อให้บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขคัดกรองโรค มีกองบริหารการสาธารณสุข(กบรส.) เป็นผู้ดูแล ด้าน ผอ.กบรส. ย้ำงบดังกล่าวครม.อนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันจัดสรรงบฯ หากส่งมาสัปดาห์หน้า จะมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนร่วมพิจารณาคุณสมบัติชุดตรวจ ATK

ตามที่ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 กรณีชุดตรวจ ATK และมีตอนหนึ่งในแถลงการณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะใช้งบอีก 180 ล้านจัดซื้อ ATK อีกล็อต เพื่อแจกจ่ายให้บุคลากรสุขภาพ จริงเท็จประการใด ใช้งบก้อนใด จัดซื้ออย่างไร LEPU อีกหรือไม่นั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ชมรมแพทย์ชนบท จับตา! สธ.แว่วเตรียมงบ 180 ล้านจัดซื้อ ATK อีกล็อตแจกบุคลากรสุขภาพ)

 

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีมีรายงานว่าที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุขให้มีการซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) สำหรับบุคลากรการแพทย์ งบประมาณประมาณ 180 ล้านบาท ว่า เป็นแผนงานที่เราขอจากรัฐบาลนานแล้ว เนื่องจากกรมควบคุมโรคมีข้อกำหนดให้เพิ่มการคัดกรองในสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้แยกผู้ติดเชื้อเร็ว และได้เข้ารับการรักษา ซึ่งในส่วนของบุคลากรสาธารณสุขนั้นในการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยนั้นมีการระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีการติดเชื้อได้ รวมถึงกรณีที่อาจจะมีการติดในบุคลากรกันเองด้วย ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายให้ตรวจด้วย ATK ในกลุ่มเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยนำร่องทดลอง 4-5 สัปดาห์ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการคัดกรองบุคลากรในเบื้องต้น

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณนั้นมีกองบริหารการสาธารณสุข (กบรส.) เป็นผู้ดูแล ซึ่งโดยปกติทางกบรส. ก็ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการบริหารคลังอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ต่างๆ อยู่แล้ว เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากา N95 ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และอื่นๆ เป็นต้น ที่จัดซื้อและกระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องก็จะออกข้อกำหนดในการซื้อ ATK อีกครั้งหนึ่ง

ด้าน นพ.กรกฤช ลิ้มสมมติ ผอ.กบรส. กล่าวว่า งบประมาณ 180 ล้านบาท นั้นเป็นงบกลางปี 2564 ที่ ครม.อนุมัติให้มาแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันการจัดสรรงบฯ ดังกล่าวจากสำนักงบประมาณ ซึ่งหากส่งมาแล้วคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติของ ATK ที่จะใช้ ซึ่งตามหลักผู้ใช้สามารถกำหนดสเปกได้ แต่กบรส.ก็ต้องมีการตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันพิจารณา อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เบื้องต้นที่มีการหารือกันในเบื้องต้นนั้น เป็น ATK สำหรับให้ประชาชนตรวจด้วยตัว หรือโฮมยูส (Home Use) เพราะบุคลากรก็คือประชาชนคนหนึ่ง และมีหลายส่วนงาน ดังนั้นจึงใช้ชุดตรวจที่สามารถตรวจได้เอง ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นยี่ห้อท็อปตัวไหนเป็นพิเศษ แต่ให้เป็น ATK ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับอย. ของไทยแล้ว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org