ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมเสนอ ศบค. 27 ส.ค.นี้ ผ่อนคลายหลังล็อกดาวน์ 4 สัปดาห์ อนุญาตนั่งกินในร้านอาหาร 50 % ถึง 2 ทุ่ม เดินทางข้ามจังหวัดภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด และอนุญาตเปิดกิจการได้บางกรณี รอรายละเอียด ศบค.พรุ่งนี้ ขณะเดียวกันออกมาตรการกำกับ COVID Free Program ร่วมกับ Universal Prevention ส่วนการตรวจโควิด ATK ให้ขรก.ตรวจสามารถเบิกหน่วยงานได้ ขณะที่ประชาชนมี 2 ทางเลือก

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 ส.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ทั่วโลกติดเชื้อ 214,673,158 ราย เสียชีวิต 4,475,017 ราย อย่างไรก็ตาม ประเทศภาคพื้นยุโรป ประเทศอิตาลี และเยอรมนี ซึ่งเยอรมนีติดไปหมื่นกว่าราย แต่เสียชีวิตน้อย สำหรับประเทศไทยติดเชื้อวันนี้ 18,501 ราย ค่าเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 18,716 ราย หายป่วยมากกว่าผู้ติดเชื้อ โดยวันนี้หายป่วย 20,606 ราย แต่ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจยังอยู่ในระดับสูง ส่วนผู้เสียชีวิต 229 ราย ค่าเฉลี่ยเสียชีวิต 7 วัน อยู่ที่ 247 ราย

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า หลังจากล็อกดาวน์มาขณะนี้ก็ประมาณ 4 สัปดาห์ ตามที่ได้สร้างฉากทัศน์เพื่อสร้างการวางแผนในการมีมาตรการต่างๆเข้าไป เพื่อดูผลการติดเชื้อ ซึ่งจะเห็นกราฟเส้นสีดำ หากไม่มีการทำอะไรอาจติดเชื้อวันละ 6 หมื่นราย แต่ตอนนี้เรามีล็อกดาวน์ อัตราติดเชื้อจึงไม่เป็นจริงตามฉากทัศน์เส้นสีดำ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมาตรการต่างๆรวมทั้งล็อกดาวน์ หากลดดาวน์ได้ 20% เป็นเส้นสีน้ำเงิน ส่วนกราฟเส้นสีเขียวคือลดการติดเชื้อ 25% ซึ่งปัจจุบันของไทยเป็นอย่างไร เราอยู่ในเส้นสีส้ม คือ หลังล็อกดาวน์เราเป็นไปตามเส้นสีน้ำเงินในช่วงแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆเป็นสีเขียวในระยะถัดมา ผลการล็อกดาวน์เราน่าจะมีประสิทธิภาพระหว่าง 20-25% ซึ่งจะต้องพิจารณาไปอีกระยะหนึ่ง โดยต้องขอขอบคุณความร่วมมือทุกส่วน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ส่วนอัตราการเสียชีวิต อย่างเส้นสีแดง จะเห็นว่าเราอยู่ในระหว่างเส้นสีน้ำเงินและสีเขียว หมายความว่า อัตราการเสียชีวิตของไทยยังสูงในผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงในแต่ละวัน ซึ่งเราสามารถลดได้ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเหล่านี้ โดยปัจจุบันมีกทม. เท่านั้นที่ฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุตามเป้าหมายกว่า 90 % แต่ต่างจังหวัดยังอยู่ในอัตราต่ำ จึงต้องพยายามเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม เส้นสีแดงที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการฉีดวัคซีนใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขเริ่มดีขึ้นและเข้าใจว่าในระยะถัดไปตัวเลขจะเริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อตั้งแต่ เม.ย. เป็นต้นมาจนถึงพ.ค. มิ.ย. มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนมีการประกาศมาตรการสังคมหลายฉบับ ซึ่งปัจจุบันกราฟผู้ติดเชื้อรายวัน ขณะนี้เลยจุดสูงสุดมาแล้ว และจะค่อยๆลงมา โดยหากแยกการติดเชื้อเป็น 2 ประเภท คือ ในกทม.ปริมณฑล และในต่างจังหวัดก็มีลักษณะการติดเชื้อสูงและค่อยๆลงมา

“ประเทศไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และอยู่ในช่วงที่ระบาดต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งต้องขอความร่วมมือประชาชน กิจการต่างๆ ให้ความร่วมมือ และคงมาตรการต่างๆ เพื่อให้การติดเชื้อไม่รุนแรงขึ้นเหมือนแต่ก่อน และจะพยายามไม่ให้เกิดสถานการณ์นี้อีกในอนาคต เพราะเราได้บทเรียนครั้งนี้ และถือมีผลกระทบในวงกว้าง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ปลัดสธ. กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอมาตรการเพื่อให้ตึงการติดเชื้อ ไม่ให้เพิ่มขึ้นอีก และให้คงมาตรการให้เราอยู่กับโควิดได้ โดยทางสธ.จะเสนอให้ ศบค. พิจารณาในการให้กิจการบางอย่างที่มีความเสี่ยงน้อย สามารถดำเนินกิจการได้ และกิจการนั้นต้องลดความเสี่ยงได้ด้วย เช่น ร้านอาหาร กิจการกลางแจ้ง และการเดินทาง ซึ่งจะได้รับการผ่อนคลายแต่ต้องมีมาตรการลดการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของห้างสรรพสินค้าก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ส่วนรายละเอียดจะมีอะไร อย่างไร ขอให้รอทาง ศบค.เป็นผู้ประกาศในวันที่ 27 ส.ค.2564

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับมาตรการการผ่อนคลายจะต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรครองรับอย่างเข้มงวด โดยสธ.เสนอมาตรการสำคัญ คือ Universal Prevention for COVID-19 หรือ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล คือ การป้องกันส่วนบุคคลสูงสุดตลอดเวลา ทั้งบุคลากรการแพทย์และประชาชนทั่วไป เพราะพบว่า เมื่อเราออกไปสู่ภายนอกกับคนไม่รู้จักเราจะระมัดระวัง แต่กับคนรู้จักเราไม่ค่อยระวัง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิด จากที่ทำงาน เพื่อน ครอบครัว เนื่องจากเข้าใจว่า เขาไม่ติดเชื้อ ทำให้ลดการป้องกันตัวเอง เช่น ทานอาหานร่วมกันมีการพูดคุยกัน ลดการใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้น ตลอดเวลาเราต้องคำนึงว่า คนรอบตัวแม้คนสนิทอาจเป็นผู้ติดเชื้อ ทุกคนต้องมีจิตสำนึกว่า คนรอบตัวเรามีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ จึงต้องระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ทำความเข้าใจ Universal Prevention หรือการป้องกันโควิดครอบจักรวาล)

ปลัด สธ. กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่จะใช้ในสถานประกอบการต่างๆนั้น เรียกว่า COVID Free Program ร่วมกับ Universal Prevention โดยจะนำไปใช้กับสถานประกอบการ หรือสถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ส่วนสถานประกอบการ ต้องมีการจัดระยะห่าง มีระบบระบายอากาศ ไม่ให้อากาศนิ่ง ซึ่งจะอยู่ในสถานประกอบการที่เป็นห้องปรับอากาศ โดยต้องจัดระบบนี้ และ 2. ส่วนบุคคล แบ่งออกเป็นผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ โดยผู้ให้บริการเรียกว่า ต้องเป็น โควิดฟรี คือ ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และเคยติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1 เดือนไม่เกิน 3 เดือนถือว่ามีภูมิคุ้มกัน และเวลาให้บริการหากไม่ได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก็ต้องตรวจเช็กเชื้อด้วยชุด ATK หากเสี่ยงมากทำทุก 3 วัน หากเสี่ยงน้อยทำทุก 7 วัน หากทำได้ก็สามารถให้บริการได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เช่นเดียวกับผู้ใช้บริการหรือลูกค้า ในระยะถัดไปก็ต้องปราศจากเชื้อเช่นเดียวกัน คือ ต้องรับวัคซีน 2 เข็ม ต่อไปอาจมีบัตร หรือดิจิทัลการ์ด ว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว ซึ่งอาจจะจัดไว้ในระบบหมอพร้อม มีใบรับรองการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่หากไม่มีก็ขอใบรับรองจากหน่วยบริการฉีดวัคซีนได้ หรืออีกส่วนอาจใช้บัตรเหลืองหรือบัตรชั่วคราวสำหรับคนที่ติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือน ก็สามารถขอใบรับรองได้ แต่หากพ้นระยะดังกล่าวก็ไปฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อไป ขณะเดียวกันจะเหมือนกับผู้ประกอบการคือ มีการตรวจโควิดเบื้องต้นด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งในอนาคตทางสถานประกอบการจะมีชุดนี้เตรียมไว้ให้

“สำหรับข้อเสนอผ่อนคลายร้านอาหารที่กล่าวมาจะเป็นในส่วนของระบบปิด คือ มีห้องปรับอากาศ แต่ขอย้ำว่า เรื่องนี้เราเน้นความสมัครใจ โดยร้านอาหารจะเปิดให้นั่งรับประทานได้ 50% เปิดได้ถึง 2 ทุ่ม ส่วนกิจการต่างๆที่จะผ่อนคลายด้วยก็จะมีมาตรการมารองรับเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอในการประชุม ศบค.วันที่ 27 ส.ค.นี้ และหลังจากให้เปิดกิจการต่างๆ ก็จะมีกิจการต้นแบบ พร้อมทั้งจะมีการติดตามผลการเปิดกิจการต่อไป ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายกิจการเสนอเข้าร่วมในระบบนี้แล้วเช่นกัน” ปลัด สธ.กล่าว

เมื่อถามกรณีมาตรการตรวจโควิดด้วยชุดตรวจ ATK ในเรื่องค่าใช้จ่ายประชาชนหรือสถานประกอบการต้องดำเนินการอย่างไร นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องชุดตรวจโควิดเบื้องต้น หรือชุดตรวจ ATK นั้น สำหรับประชาชนทำได้ 2 ทาง โดยทางแรกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. หากมีการจัดซื้อแล้วเสร็จจำนวน 8.5 ล้านชุดก็จะแจกจ่ายประชาชนได้ อีกส่วนคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงหาซื้อได้ ขณะที่สถานประกอบการจะมีการนำเข้ามาเช่นกัน ส่วนภาคราชการ กำหนดให้ข้าราชการทุกคนสามารถใช้ชุดตรวจโควิดและเบิกภาครัฐได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอมาตรการเหล่านี้ ต้องมีการปรับโซนสีพื้นที่ควบคุมหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรายังไม่ได้เสนอให้มีการปรับสี เพราะตัวเลขติดเชื้อยังสูง แม้จะเริ่มมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ต้องกลับมาเข้มงวดอีกเหมือนเดิม

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะยังมีการล็อกดาวน์การเดินทางนอกพื้นที่หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า จะมีการเสนอให้มีการผ่อนคลายให้สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ แต่ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการเข้มงวด มีการตรวจสอบการเดินทางเข้าออก ดังนั้น การเดินทางด้วยรถยนต์อาจไม่ได้เต็มที่ เพราะยังต้องมีมาตรการต่างๆอยู่ ขณะที่เรื่องสายการบินก็ต้องปลอดภัยที่สุดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขอให้รอรายละเอียดจาก ศบค.ในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.)

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเริ่มผ่อนคลายเมื่อไหร่ วันที่ 1 ก.ย.เลยหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เสนอทาง ศบค.ก่อน หากอนุญาตก็จะทำได้ ขอให้รอฟังจากศบค. พรุ่งนี้ (27 ส.ค.) ว่า จะเป็นวันที่เท่าไหร่ อย่างไร