ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วัดหงส์รัตนารามฯ จัดตั้ง Temple Isolation ให้การดูแลพระสงฆ์ สามเณร ชาวบ้านในละแวก ที่ติดเชื้อวิด-19 โดยจะเปิดรับเคสนวันที่ 1 ก.ย. เป็นต้นไป ด้าน “นพ.จะเด็จ” ยืนยันว่า ศูนย์พักคอยฯ มีความจำเป็น หากชุมชนใดต้องการจัดตั้ง สปสช.พร้อมสนับสนุน

พระธรรมวชิรเมธี (มีชัย วีรปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ก.ย.2564) ศูนย์พักคอยวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร (Temple Isolation) กรุงเทพมหานคร เริ่มรับภิกษุสงฆ์-สามเณร ที่ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงประชาชนในละแวกใกล้เคียง เข้ามาดูแล ปัจจุบันมีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีโรงพยาบาลสงฆ์ให้การดูแล แต่ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โรงพยาบาลสงฆ์ไม่อาจรองรับได้ไหวเช่นกัน จึงจำเป็นต้องตั้ง Temple Isolation ขึ้น เพื่อดูแลผู้ที่ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว เพราะหากรู้เร็ว รักษาเร็ว อาการก็จะไม่หนัก

“เบื้องต้นจะเน้นพระที่ติดเชื้อในเขตบางกอกใหญ่และฝั่งธนก่อน ส่วนญาติโยมก็เน้นรับผู้ติดเชื้อจากชุมชนละแวกใกล้เคียง หากไม่มีที่กักตัวก็สามารถมาอยู่ที่ศูนย์พักคอยวัดหงส์รัตนารามฯ แต่ถ้ามีเตียงเหลือก็สามารถขยายขอบเขตรับผู้ป่วยในพื้นที่ที่ไกลออกไปได้เช่นกัน” เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร กล่าว

สำหรับศูนย์พักคอยวัดหงส์รัตนารามฯ มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว โดยใช้พื้นที่ 2 อาคาร คืออาคารเรียนพระปริยัติธรรมพระปิ่นเกล้าสำหรับสงฆ์ มีจำนวน 71 เตียง และอาคารโรงเรียนวัดหงส์รัตนารามสำหรับประชาชน มี 48 เตียง แยกเป็นหญิง 24 เตียง ชาย 24 เตียง

ทั้งนี้ การดำเนินงานได้รับการอนุเคราะห์จากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กทม. สปสช. มาช่วยออกแบบปรับสภาพแวดล้อมให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัย และมีคณะแพทย์พยาบาลอาสามาช่วยดูแลด้วยกุศลจิตโดยไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ศูนย์พักคอยวัดหงส์รัตนารามฯ เป็น 1 ใน 64 ศูนย์ที่ได้มีการเปิดใช้ใน กทม. โดย กทม. มีแผนที่จะเปิดศูนย์พักคอยให้ได้ 70 ศูนย์ ซึ่งในจำนวนนี้จะมี 8 ศูนย์ ที่ยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขต และอีก 22 ศูนย์จะมีลักษณะกึ่งศูนย์พักคอย (Semi-Community isolation) ที่สร้างโดยชุมชนและชุมชนดูแลกันเอง ซึ่งจะมีจำนวนเตียงตั้งแต่ 5-20 เตียง หากรวมกับการดำเนินงานของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมด้วยแล้ว กทม.จะมีเตียงในศูนย์พักคอยราว 1 หมื่นเตียง


 
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บทบาทของ สปสช. จะเข้าไปสนับสนุนค่าบริการสาธารณสุข-อาหาร-ยา-อุปกรณ์ทางการแพทย์-ค่ารักษาของผู้ป่วย เชื่อว่าศูนย์พักคอยที่อยู่ในรูปแบบวัดจะเป็นตัวอย่างสำคัญในการรองรับผู้ป่วย

สำหรับรูปแบบของวัดหงส์รัตนารามฯ จะเป็นรูปแบบที่จะขยายไปวัดอื่นได้ เนื่องจากมีจุดเด่นที่สำคัญคือสถานที่มีความใหญ่ และมีระบบระบายอากาศที่ดี  รวมถึงมีอาหารจากทางวัด-ผู้มีจิตศรัทธาเข้ามาสนับสนุน นอกจากนี้ชุมชนวัดหงส์รัตนารามฯ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่วัดมีบทบาทสำคัญในการจัดระบบ และมีการผูกโยงกับโรงพยาบาล หรือศูนย์บริการที่จะเข้ามาดูแล

“ประชาชนที่ไม่สะดวกในการเข้าระบบรักษาตนเองเองที่บ้าน (Home isolation) ก็สามารถเข้ามารักษาในลักษณะศูนย์พักคอย (Community isolation) ได้ ซึ่งแม้ว่าขณะนี้จำนวนผู้ป่วยจะเริ่มลดลง แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ต้องเตรียมความพร้อมของศูนย์พักคอยเอาไว้” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ชุมชนที่อยากจะจัดตั้งศูนย์พักคอยสามารถประสานงานกับ สปสช. ได้ ส่วนการจัดตั้งเองก็มีหลายรูปแบบ เช่น วัด ศูนย์พักคอยในโรงเรียน หรือชุมชน หน่วยบริการที่เข้าไปจับคู่ดูแลก็สามารถเบิกค่าบริการที่ สปสช. ได้กำหนดไว้ในลักษณะของ Community isolation

อ่านข่าวเกี่ยงข้อง : https://www.hfocus.org/content/2021/08/22868

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org