ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาองค์กรของผู้บริโภค เผย ไม่เคยได้รับการติดต่อจาก กนศ. เพื่อหารือแก้ปัญหา CPTPP ตามคำสั่งนายกฯ พร้อมยื่น 6 ข้อเสนอให้รัฐชะลอเข้าร่วม CPTPP

จากการที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ประเทศไทย เดินหน้าเข้าร่วม CPTPP โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยจะตกขบวนไม่ได้และต้องเจรจาโดยมีข้อสงวน รวมถึงเสนอให้ มีการตั้งกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ด้วย นั้น

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า สอบ. มีความห่วงใยและวิตกกังวลกับข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยมีบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาและประสานกับ สอบ. ในประเด็นการเข้าร่วม CPTPP แต่จนถึงปัจจุบัน สอบ. ยังไม่ได้รับการติดต่อหน่วยราชการใดในเรื่องดังกล่าวเลย ขณะที่รัฐบาลกลับมีแผนจะเดินหน้าเข้าร่วม CPTPP ภายใน 1 - 2 สัปดาห์นี้ ดังนั้น สอบ. จึงทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งเรื่องดังกล่าว

“สอบ. โดยคณะอนุกรรมการด้านอาหารยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการฯ ที่รับผิดชอบในประเด็นการจัดทำข้อห่วงใยต่อการเข้าร่วม CPTPP ของประเทศไทย ได้ทำหนังสือแจ้งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใดทำตามบัญชา บัญชาของนายกฯ ยังมีความหมายหรือไม่ หรือสั่ง ๆ ไปอย่างไม่จริงจัง ซึ่งไม่น่าจะใช่ในฐานะผู้นำประเทศ" น.ส.สารี กล่าว

ด้าน ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ประเทศไทยต้องจ่ายค่ายาที่จำเป็นแพงขึ้น อย่างน้อยเพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากการเข้าร่วม CPTPP จะเป็นการยอมให้ต่างชาติผูกขาดการขายยาจำเป็นและข้อมูลเกี่ยวกับยา ซึ่งสภาเภสัชกรรมเคยจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเสนอต่อ กนศ. โดยระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยา ไม่น้อยกว่า 420,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลงสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณของรัฐในการจัดบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง

 

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้รัฐบาลชะลอการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีข้อเสนอนโยบายและมาตรการ 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

1) ขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรีควรใช้มาตรการอื่น ๆ ในการ


สนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคในประเทศ เช่น Regulatory Guillotine (RG) ทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้ อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก สร้างภาระต่อการปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติภาครัฐ ซึ่งส่วนมากมีลักษณะไม่ยืดหยุ่น ก่อให้เกิดภาระต่อภาครัฐในการบังคับใช้และสร้างภาระต่อผู้ประกอบการและประชาชนในการปฏิบัติตาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เท่าทันนวัตกรรมใหม่ ๆ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก

2) ขอให้เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบฯ ต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP แต่หากมีผลกระทบด้านบวกมากกว่าและสรุปได้ว่าการเข้าร่วมฯ จะก่อให้เกิดผลได้มากกว่าผลเสียอย่างมีนัยสำคัญ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น งบประมาณ อัตรา บุคลากร ศักยภาพของบุคลากร ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ตามที่ระบุในบทสรุปผู้บริหารของรายงานของคณะกรรมาธิการฯ

3) ขอให้กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยากับยาชื่อสามัญ (Generic Drug) และเร่งปรับปรุงฉลากผลิตภัณฑ์ GMO ให้มีความชัดเจน และต้องแสดงฉลากในทุกผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีการใช้วัตถุดิบที่มาจากการตัดแต่งพันธุกรรมไม่ว่าจะปริมาณเท่าไรก็ตาม รวมทั้งมีสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคสามารถเห็นได้ชัดเจน และมีมาตรการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอาง รวมถึงอาหารจากวัตถุดิบที่มีหรือปนเปื้อน GMO เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คู่ขนานกับการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ

4) ขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ที่สร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร สิทธิของประชาชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ และสนับสนุนการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (มาตรการบังคับใช้สิทธิ, Compulsory Licensing) ให้มีประสิทธิภาพและสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ความตกลง TRIPS) และปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ที่ตีความและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยคำนึงถึงประโยชน์ด้านสุขภาพมากกว่าการค้า รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรให้ผู้ยื่นขอรับการคุ้มครองสิทธิบัตรพันธุ์พืชต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น

5) ขอให้กองทุนอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืช ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เร่งดำเนินการให้กองทุนสามารถสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงกองทุนนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในระดับจังหวัด และให้การสนับสนุนเกษตรกรเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ รวมทั้งพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์พืชท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์ โดยเกษตรกรและชุมชน

และ 6) ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ครอบคลุมทรัพยากรชีวภาพทุกประเทศ โดยใช้หลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity, CBD) เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org