ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีที่เคยมีการเผยแพร่ข้อมูลอ้างว่า สูตรสมุนไพรประกอบที่ด้วย ลูกยอ ลูกผักชี ลูกมะตูม เป็นหนึ่งในตำรับยาสมุนไพรที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยเป็นไตเสื่อม สามารถทำให้ผู้ป่วยที่มีค่าไต GFR ต่ำในระดับ 60 กว่า ๆ ให้กลับขึ้นมาเป็นค่าปกติได้ บำรุงไต ขับปัสสาวะ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย และกรดไหลย้อนได้ ทางศูนย์ข้อมูลยาสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ตรวจสอบ และรวบรวมข้อมูลจากรายงานการวิจัยต่าง ๆ และให้ข้อสรุปว่า ข้อมูลดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นเท็จ และบิดเบือนข้อเท็จจริงอยู่มาก ดังนั้นจึงไม่ควรแชร์ต่อ ซึ่งมีข้อมูลสรุปดังนี้

จากตำรายาแผนไทยระบุว่า สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดจัดอยู่ในตำราพิกัดตรีผลสมุฏฐาน คือ ลูกมะตูม ลูกยอ ลูกผักชีลา มีสรรพคุณ แก้ไตพิการได้ หากแต่วิธีการทำ ที่นำมาแชร์ยังไม่มีหลักฐานแสดงชัดเจนว่าวิธีการนำเอามะตูม (ทุบพอแหลก) และลูกผักชีอย่างละ 20-30 กรัม มาคั่วในกระทะให้หอม ส่วนลูกยอใช้ลูกยอแก่ยังไม่สุกสัก 1-2 ลูก ฝานบาง ๆ  ปิ้งไฟให้เกรียม นำสมุนไพรที่เตรียมไว้น้ำหนักเท่า ๆ กัน มาต้มในน้ำ 1 ลิตร 30 นาที ดื่มก่อนอาหาร 3 เวลาติดต่อกัน 1 สัปดาห์ จะสามารถช่วยบำรุงไตได้ เพราะในปัจจุบันโรคไตมีอยู่ 2 แบบ คือ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง ที่ยังไม่มีการรักษาได้หายขาด มีแค่การประคองไปตามอาการที่ปรากฎเท่านั้น 

สำหรับประเด็นข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์ "ลูกมะตูม ลูกยอ ลูกผักชี เป็นสมุนไพรบำรุงไต" นั้น ได้ศึกษาข้อเท็จจริงจากตำรายาทางการแพทย์แผนไทยและข้อมูลการศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า ลูกมะตูม ลูกยอ และลูกผักชี ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยสมุนไพรทั้ง 3 จัดอยู่ในพิกัดตรีผลสมุฏฐานและมีสรรพคุณ แก้สมุฏฐานแห่งตรีโทษ ขับลมต่าง ๆ แก้อาเจียน และแก้โรคไตพิการ 

ลูกมะตูม จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Rutaceae มีสรรพคุณตามภูมิปัญญาคือ บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับลม บำรุงไฟธำตุ บำรุงกำลัง ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า สารสกัดผลมะตูมอ่อนมีฤทธิ์ลดการท้องเดินหรือการสะสมของน้ำในลำไส้จากการทดลองกับสัตว์ทดลองที่ได้รับน้ำมันละหุ่งเป็นยาถ่าย รวมทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ นอกจากนั้น มีรายงานว่า สารสกัดด้วยน้ำของผลมะตูมยังแสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง และมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันด้วย

ลูกยอ จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Rubiaceae มีสรรพคุณตามภูมิปัญญาคือ แก้อาเจียน แก้ร้อนในอก ขับผายลมในกระเพาะอาหาร ลำไส้ แก้ตัวเย็น ขับเลือดสตรี แก้เหงือกเปื่อยเป็นขุยบวม แก้ไข้ในกองลมและเสมหะ แก้กระษัยราก บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร รักษาเบาหวาน และแก้ไอ ข้อมูลจากการศึกษาพรีคลินิกพบว่า สารที่สกัดได้จากลูกยอมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการรักษาโรคต่าง ๆ ได้แก่ มะเร็งต่าง ๆ  อาทิ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด เป็นต้น รักษาเนื้องอก โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ ความดันโลหิตสูง มีส่วนช่วยในการปกป้องไต 

นอกจากนี้สารสกัดจากลูกยอมีฤทธิ์ยับยั้ง Monoamine Oxidase (MAO) -A และ MAO-B ซึ่งสนับสนุนการใช้เป็นยาแบบดั้งเดิมเพื่อรักษาความเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับ โรคซึมเศร้าและความวิตกกังวล ในการศึกษาเกี่ยวกับน้ำที่ได้จากผลยอต่อ ความบกพร่องของการเรียนรู้ในหนูทดลองที่ถูกทำให้เครียด พบว่า น้ำผลยอสามารถปกป้องสมองจากความบกพร่องของการเรียนรู้ภายใต้ภาวความเครียดได้ ซึ่งผลดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการลดลงของความหนาแน่นของหลอดเลือดบริเวณ dentate gyrus ของสมองส่วน hippocampal ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น

น้ำผลยอมีฤทธิ์ป้องกันการเกิด oxidative damage ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ ทั้งยังมีฤทธิ์ป้องกันการบาดเจ็บของตับ และยับยั้งการทำงานของ cyclo-oxygenase enzymes (COX-1 and COX-2) ซึ่งเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอด และแสดงฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ สาร anthraquinones 7 ชนิดที่ได้จากการสกัดรากยอมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ osteoclast tartrate resistant acid phosphatase และการยับยั้ง osteoclastic bone resorption ในหนูทดลองที่ถูกทำให้เป็นกระดูกพรุน ซึ่งผลต่าง ๆ ดังกล่าว ส่งผลต่อการรักษาโรคกระดูกพรุนได้

ลูกผักชี หรือผักชีลา จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Apiaceae มีสรรพคุณตามภูมิปัญญาคือ ผลของมันจะช่วยขับลมในลำไส้ แก้หอบ บำรุงปอด แก้ไอ แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน อาเจียน แก้กระหายน้ำ แก้สะอึก แก้ไข้ แก้ไข้จากการเป็นซาง แก้โรคไตพิการ แก้โรคเกี่ยวกับตา แก้รำมะนาด แก้ลมพิษ แก้ลมวิงเวียน แก้พิษตานซาง แก้โรคในอก บำรุงมันในกระดูก แก้คาวคอ แก้ร้อนใน แก้หัด บำรุงกระเพาะอาหาร แก้บิด แก้ริดสีดวงทวาร ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อราพืช ต้านยีสต์ ต้านออกซิเดชัน กระตุ้นกล้ามเนื้อลาย กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ต้านการอักเสบ ลดอาการบวม เพิ่มฤทธิ์บาร์บิตูเรตทำให้ไวต่อแสง แก้โรคขาดวิตามิน A ลดความดันโลหิต ลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ต้านระดับน้ำตาลในเลือดสูง ลดความอ้วน ฆ่าไส้เดือน ฆ่าไรทะเล ฆ่าตัวอ่อนแมลง ฆ่าแมลง ขับปัสสาวะ นอกจากนี้มีฤทธิ์เหมือนอีสตามีน ทำให้เกิดการแพ้ ผิวหนังอักเสบ ทั้งยังมีฤทธิ์เหมือนเลคติน ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และต้านการก่อกลายพันธุ์ ยับยั้งการก่อเกิดเนื้องอก 

เมื่อนำไปทดสอบความเป็นพิษพบว่า เมื่อให้สัตว์ทดลองกินน้ำมันหอมระเหยค่า LD50 = 4.13n/nn c]tฉีดสารสกัดเมล็ดด้วย 50% เอธานอลเข้าช่องท้องของหนูทดลอง พบว่าขนาดที่สัตว์ทดลองทนได้สูงสุดมีค่า 1 ก/กก แต่เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือให้กินในขนาด 10 ก/กก นั้น ไม่พบพิษ 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดนี้ ยังไม่หลักฐานแสดงชัดเจนว่าสามารถบำรุงไตได้ ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็ยังไม่มีการยืนยันการรักษาโรคไตได้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของผลกระทบต่อสุขภาพนั้นก็มีคือ ลูกมะตูมมีส่วนช่วยในการลดน้ำตาลในเลือด ควรระวังในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรดื่มน้ำลูกยอ เพราะมีเกลือโปแตสเซียมสูง อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ และสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภคลูกยอ เพราะมีฤทธิ์ขับโลหิต อาจทำให้แท้งบุตร และลูกผักชี หากนำมาผลิตเป็นน้ำมันเมล็ดผักชี ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหย หากถูกผิวนาน ๆ อาจระคายเคืองได้ 

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตควรศึกษาข้อมูลการใช้สมุนไพรอย่างระมัดระวังอย่าหลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อตามสื่อต่าง ๆ ให้รับสื่อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ หากมีปัญหาในการใช้สมุนไพรอื่นใดเพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์แผนไทยจะเป็นการดีที่สุด

 

 


เอกสารอ้างอิง 

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก