ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศฯ ใช้จ่ายงบประมาณรวม 20,829.23 ล้านบาท จาก พรก.กู้เงินฯ ตามที่ ครม.อนุมัติ เพื่อจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ที่ค้างจ่ายหน่วยบริการ ครอบคลุมการตรวจคัดกรอง-รักษา-ส่งต่อ-วินิจฉัย-ฉีดวัคซีน ส่วนการเสนอของบประมาณรอบ 2 อีก 2.2 หมื่นล้านบาท เตรียมเข้าสู่ ครม.ปลายปีนี้

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 13/2564 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (ฉบับที่ 3) เพื่อจ่ายชดเชยค่าบริการโควิด-19 ให้กับหน่วยบริการได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับ (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าว เป็นการกำหนดเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สำหรับบริการโรคโควิด-19 และค่าบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกจำนวน 20,829.23 ล้านบาท ซึ่งได้มาจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (พรก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สปสช. ได้เสนอขอรับงบประมาณจาก พรก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม สำหรับจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ไปแล้ว 2 ครั้ง วงเงินรวม 42,886.0740 ล้านบาท แบ่งเป็นครั้งที่ 1 วงเงิน 20,829.23 ล้านบาท สำหรับจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ที่หน่วยบริการให้บริการไปแล้วในปี 2564 และ สปสช.เป็นหนี้ค้างจ่ายหน่วยบริการเนื่องจากงบได้รับมีไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติอนุมัติงบประมาณดังกล่าวให้ สปสช.ดำเนินการแล้ว โดยกำหนดเวลาใช้จ่ายแล้วเสร็จภายใน 16 ธ.ค. 2564 จึงมีการเสนอบอร์ด สปสช. เพื่อออกประกาศหลักเกณฑ์ฯ นี้ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป เพื่อใช้จ่ายงบประมาณครอบคลุมบริการตรวจคัดกรอง บริการป้องกันการติดเชื้อสำหรับคนไทยทุกคน บริการรักษา บริการรับส่งต่อ บริการตรวจเพื่อวินิจฉัย รักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีน การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นภายหลังได้รับวัคซีนสำหรับคนไทยทุกคน ค่าบริการฉีดวัคซีน และหรือขอบเขตบริการที่อาจเพิ่มเติมในระหว่างปี

ในส่วนของการเสนอขอรับงบประมาณครั้งที่ 2 วงเงิน 22,056.84 ล้านบาท สำหรับจ่ายชดเชยบริการโควิด-19 ปีงบประมาณ 2565 ระหว่างเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2564 คาดว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะเสนอต่อ ครม. เพื่อให้พิจารณาในวันที่ 21 ธ.ค. 2564 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมบอร์ด สปสช. ยังได้เห็นชอบในหลักการกรณีได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว และอยู่ในช่วงรอยต่อของการทำธุรกรรมการเบิกจ่ายเงิน โดยมอบ สปสช. ใช้เงินกองทุนจากรายการและประเภทบริการอื่นที่ไม่มีภาระผูกพัน หรือรายการจากบัญชีรายได้สูงต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสะสม จ่ายค่าบริการโควิด-19 ไปพลางก่อน