ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการไปดำเนินการต่อไป โดยร่างแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความชุกของการบริโภคยาสูบของประชากรและคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากอันตรายของควันบุหรี่ ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ กรอบวงเงิน 498.039 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถการควบคุมยาสูบของประเทศ วงเงิน 138.800 ล้านบาท อาทิ ผลักดันนโยบาย ปรับปรุงกฎหมาย ระบบการบังคับใช้กฎหมาย ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ WHO FCTC การเฝ้าระวัง วิจัย จัดการความรู้ กำกับ ติดตามประเมินผลการควบคุมยาสูบในทุกระดับ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ป้องกันมิให้เกิดผู้เสพยาสูบรายใหม่และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบ วงเงิน 99.186 ล้านบาท อาทิ การให้ความรู้ โทษ พิษภัย ของยาสูบ ให้แก่เด็ก เยาวชนและนักสูบหน้าใหม่ เฝ้าระวังแาะบังคับใช้กฎหมาย การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ การโฆษณา และรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 บำบัดผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ วงเงิน 51.832 ล้านบาท อาทิ การสร้างเสริมพลังชุมชนและเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อบำบัดผู้เสพยาสูบ การพัฒนาระบบบริการเลิกยาสูบและสายด่วนเลิกบุหรี่

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การควบคุม ตรวจสอบ เฝ้าระวังและเปิดเผยรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ วงเงิน 12.500 ล้านบาท อาทิ การปรับปรุงกฎหมาย/แนวทางการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก การสร้างกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อวัดสารที่อยู่ในยาสูบและสารที่ปล่อยออกมา

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ทำสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ วงเงิน 165.721 ล้านบาท อาทิ การออกประกาศกฎกระทรวง กฎ ระเบียบ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้สถานที่สาธารณะและสถานที่ทำงานทุกแห่งปลอดควันบุหรี่ การปรับเปลี่ยน ทัศนคติ พฤติกรรมและค่านิยมของการเสพยาสูบ เพื่อให้การไม่สูบบุหรี่ในบ้าน สถานที่ทำงานและสถานที่สาธารณะเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 6 มาตรการภาษี การป้องกันและปราบปรามเพื่อควบคุมยาสูบ วงเงิน 30 ล้านบาท อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างภาษียาสูบและระบบการบริหารการจัดเก็บภาษียาสูบ การป้องกัน ปราบปรามยาสูบที่ผิดกฎหมาย และการดำเนินการสำหรับผู้กระทำความผิด และมาตรการลดผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบอันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ครม. มีมติ (28 ก.ย. 64) เห็นชอบหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย ฤดูการผลิต 62/63 ซึ่งปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบงบกลาง วงเงิน 159.95 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามมติ ครม. ดังกล่าว

" ทั้งนี้ การดำเนินการควบคุมปัญหาการบริโภคยาสูบจะส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อาทิ ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับยาสูบลดลงและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวม ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประเทศไทยยังได้รับการยอมรับการเป็นผู้นำการควบคุมยาสูบในระดับประเทศและนานาชาติ ” นายธนกร กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

1. นายกฤตเตโช สิริภัสสร นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุกรรม) สถาบันบำราศ นราดูร กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม) สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2564

2. นายประจักษ์ จริยพงศ์ไพบูลย์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตกรรม) โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564

3. นายวิเชียร เทียนจารุวัฒนา ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการระดับสูง) กองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ (ด้านกำลังคนสาธารณสุข) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564

4. นางสาวสิริวรรณ จันทนจุลกะ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม) กรมอนามัย ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป