ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมจำแนกสาเหตุผู้เสียชีวิตโควิด จากโรคโดยตรง หรือมีปัจจัยอื่นร่วม พร้อมเปิดตัวเลขผู้รับบริการโควิดแบบ OPD “เจอ แจก จบ” วันที่ 4-8 มี.ค. 14 จังหวัดรวม 3 เขตสุขภาพ คือ เขตที่ 4 -5- 6 รวมดำเนินการ 7,839 ราย ใช้บริการมากสุดวันที่ 7 มี.ค. สูงถึง 3,205 ราย รักษาตามอาการ 50% ยาฟาวิพิราเวียร์ 28% ยาฟ้าทะลายโจร 22%

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงตัวเลขผู้เสียชีวิต 74 รายในวันนี้(10 มี.ค.) ว่า จากตัวเลขการเสียชีวิต ทาง สธ.จะมีการพิจารณาสาเหตุการเสียชีวิตว่า จะนับอย่างไร เนื่องจากมีทั้งโรคโควิดโดยตรง กับการมีโรคอื่น ซึ่งการจะนับผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิดควรดูอาการ เช่น ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจที่เป็นอาการปอดอักเสบ เชื้อลงปอดอย่างชัดเจน ต้องถือว่าโรคโควิดทำให้เสียชีวิต ไม่ใช่เป็นองค์ประกอบให้เสียชีวิต ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยติดเตียงอยู่บ้าน ป่วยด้วยโรคที่เป็นอยู่แล้ว แต่เกิดติดโควิดจากคนดูแลหรือคนในครอบครัว และเสียชีวิต ก็ต้องแยกประเภทออกมาให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะเกิดความสับสน โดยจะทำให้เห็นว่า ผู้เสียชีวิตด้วยโควิดแท้ๆ ทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำปอดอักเสบมากก็จะแยกออกมา

เมื่อถามว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับโควิดมีประมาณเท่าไหร่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนที่เสียชีวิตไม่เกี่ยวกับโควิด มีโรคอื่น แต่เมื่อมาตรวจพบว่า มีเชื้อโควิด พบว่ามีประมาณ 10-30% อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับระบบรายงานผู้เสียชีวิต แยกเป็นผู้เสียชีวิตที่มีปอดอักเสบ ไม่มีปอดอักเสบ และไม่ระบุสาเหตุแต่จะมีการรายงานถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงโครงการเจอ แจก จบ รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดแบบ OPD ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขว่า ขณะนี้มีการให้บริการต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเปิดบริการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดแบบผู้ป่วยนอก หรือ OPD มาตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 ในรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ส่วนวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการเปิดบริการเพิ่ม 14 จังหวัดรอบกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อโทรเข้าสายด่วน 1330 จำนวนมาก เพราะ 60% ของการโทรเข้ามาเป็นสายมาจาก กทม.เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การเปิดคลินิกผู้ป่วยนอกโควิดในกลุ่มอาการสีเขียว ทำให้ช่วยลดจำนวนการรอสายลงได้ ซึ่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. เปิดบริการผู้ป่วยโอพีดี 14 จังหวัดรอบกทม.สามารถรองรับ 8 พันราย ได้แก่ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี จันทบุรี ชลบุรี และ สมุทรปราการ โดยสัดส่วนของการจ่ายยาที่เราพบว่าเมื่อประชาชนได้ปรึกษากับแพทย์แล้ว ก็มีความเข้าใจมากขึ้น รับยารักษาตามอาการ 50% ยาฟ้าทะลายโจร 22% และยาฟาวิพิราเวียร์ 28%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลโรงพยาบาลที่รายงานเจอ แจก จบ วันที่ 4-8 มี.ค.2565 โดย 14 จังหวัดแบ่งออกเป็น 3 เขตสุขภาพ คือ เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 5 และเขตสุขภาพที่ 6 รวมดำเนินการไปทั้งสิ้น 7,839 ราย โดยวันที่มีการเข้าบริการมากที่สุดคือ วันที่ 7 มี.ค. มีผู้ใช้บริการสูงถึง 3,205 ราย รองลงมาวันที่ 8 มี.ค.2565 จำนวน 2,339 ราย วันที่ 4 มี.ค. จำนวน 1,179 ราย วันที่ 5 มี.ค. จำนวน 574 ราย และวันที่ 6 มี.ค. จำนวน 542 ราย

ทั้งนี้ หากคิดเป็นสิทธิ์รักษา พบว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง คิดเป็น 64% ประกันสังคม คิดเป็น 16% ข้าราชการ 7% สิทธิ์อื่นๆ หรือสิทธิ์ว่าง 9% และต่างด้าว 4% ส่วนตัวเลขการให้ยาจำแนกตามยารักษา ดังนี้ ยารักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ ยาแก้ไอ 50% ยาฟาวิพิราเวียร์ 28% ยาฟ้าทะลายโจร 22%

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org