ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมวิทย์เผยภูมิคุ้มกันหมู่คนไทย (herd immunity) เพิ่มขึ้น ทั้งจากอัตราการฉีดวัคซีน 2 เข็มประมาณ 70%  และจำนวนหนึ่งติดเชื้อแล้วคาด 30-40%  แม้ภูมิฯขึ้น แต่ย้ำความจำเป็นต้องบูสเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ขอให้ได้อย่างน้อย 3 เข็ม ส่วนคนฉีด 5 เข็มจะฉีดอีกหรือไม่ให้พิจารณาจากสถานการณ์โรค และการกลายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัญหา

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19  ว่า ขณะนี้สายพันธุ์โควิดพบมาก คือ BA.5  ส่วนการเฝ้าระวัง BA.2.75   มี 13 ราย  ซึ่งยังน้อย เมื่อเทียบกับ BA.4 และ BA.5 มีมากเกือบ 100%  โดยใน BA.5 มีเกือบ 6 เท่าของ BA.4  หมายความว่า ขณะนี้ BA.5 ครองตลาดในไทยมากที่สุด ส่วน BA.2.75  ยังไม่มีวี่แววว่าจะเข้ามาแทนที่ ขณะที่ BA.4.6 ก็ยังไม่มีในประเทศ

ผู้สื่อข่าว Hfocus ถามว่าขณะนี้การตรวจหาภูมิคุ้มกันหมู่ในคนไทย(herd immunity)เพิ่มขึ้นอย่างไร และจะส่งผลให้คนบางกลุ่มไม่ต้องการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 เข็ม 5 หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จริงๆ  ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้ 2 อย่าง คือ จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีน  แต่โดยหลักโรคไหนรุนแรงก็ไม่ปล่อยให้ติดเชื้อโดยธรรมชาติ 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมขณะนี้ถือว่าดีขึ้น อย่างอัตราการฉีดวัคซีน 2 เข็มอยู่ที่ประมาณ 70%  และจำนวนหนึ่งน่าจะติดเชื้อไปแล้ว อย่างข้อมูลกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจในบุคลากรส่วนกลาง 1,200 คน พบติดเชื้อ 400 คน ประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งก็เชื่อว่าคนไทยที่ติดเชื้อแล้วอาจไม่รู้ตัวหรือไม่ได้ตรวจน่าจะมีประมาณ 30-40% บวกกับการฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่มากพอทำให้การระบาดไม่มีปัญหาอะไร แต่สถานการณ์ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ไม่มีการกลายพันธุ์

หากถามว่าไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะมีปัญหาอย่างไรนั้น แน่นอนว่ามีความเสี่ยงของการติดเชื้อ หรือรุนแรงอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะถอยไปศูนย์  เพียงแต่การสู้อาจไม่เพอร์เฟค แต่อย่างน้อยได้สัก 3 เข็มโอกาสเสียชีวิตจากโรคก็จะต่ำมากๆ แต่หากอยากได้แบบเพอร์เฟคสูงๆ ก็ต้องกระตุ้นทุก 3-4 เดือน

"วันนี้เป้าประเทศไทยขอให้ได้สัก 3 เข็ม ให้ขึ้นไปสัก  70-80% และหนึ่งในนั้นมีกลุ่ม 608 กลุ่มเสี่ยงได้ฉีดกระตุ้นสูงๆยิ่งดี เพราะจะลดความรุนแรงของเชื้อ ลดอัตราการเสียชีวิตได้" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าเมื่อภูมิคุ้มกันหมู่เพิ่มขึ้น มีกลุ่มที่ฉีดมาแล้ว  5 เข็ม ควรกระตุ้นเป็นเข็ม 6 อีกหรือไม่ เพราะส่วนหนึ่งต้องการรอวัคซีนรุ่นใหม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า  เรามีประสบการณ์พอสมควรเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด แน่นอนว่า ความเสียหายจากวัคซีนตรงไปตรงมาไม่ค่อยมี แต่จะมีผลข้างเคียงบ้าง อย่างไรก็ตาม หากชั่งน้ำหนักว่าเราฉีดมาแล้ว 5 เข็ม ย่อมมีภูมิฯ ในระดับหนึ่ง และหากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ไม่ได้คลุกคลีกลุ่มเสี่ยงใดๆ ก็อาจจะรอดูสถานการณ์ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อด้วย เพราะหากเกิดการกลายพันธุ์และรุนแรงก็ต้องพิจารณาใหม่อีกครั้ง

" กรณีวัคซีนรุ่นใหม่นั้น แม้ว่าจะมีข่าวว่ามีความพยายามอนุมัติให้ฉีดวัคซีนสายพันธุ์ที่ทันสมัยขึ้น คือ BA.1 แต่ในความจริงคนที่ติด BA.1 ก็สามารถติด BA.5 ได้ ตอนนี้จึงมีคำถามว่าวัคซีนที่ผลิตออกมาใหม่ มีความต่างจากเดิมมากแค่ไหน เพราะหากต่างกันไม่มาก อาจไม่คุ้มค่า ซึ่งเชื่อว่าวัคซีนไล่ไม่ทันสายพันธุ์ เช่น แม้วันนี้จะมี BA.5 มาขายแต่อีกไม่กี่เดือนก็มีไวรัสตัวใหม่อีก" นพ.ศุภกิจ กล่าว และว่า ตนยังเชื่อว่า การปูพื้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย ก็ไม่เสียเปล่า เป็นฐานที่ดีแล้วเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยแพลตฟอร์มอื่นก็ช่วยกระตุ้นได้เยอะ 

เมื่อถามอีกว่า กรมวิทย์ได้ตรวจภูมิฯคนฉีดวัคซีนโควิดจนถึงเข็มที่เท่าไหร่แล้ว นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า   ขณะนี้เราทำการตรวจไปถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 และ กำลังจะทำเข็ม4 ต่อไป 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org