ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดของประเทศ หรืออายุ 65 ปีมากกว่า 14% และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2578 ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์และจะเปรียบเหมือนคลื่นสึนามิผู้สูงวัยลูกใหญ่ หากไม่เตรียมแผนรองรับไว้ตั้งแต่วันนี้

ในเวทีสาธารณะ“การขับเคลื่อนการรองรับสังคมสูงวัยระดับตำบล” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช) ร่วมกับ สำนักงานประสานงานนโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ อดีตนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง  ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) อธิบายแนวคิดสังคมสูงวัย ซึ่งหากไม่มีการเตรียมรับที่ดี ก็จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง

รศ.ดร.เจิมศักดิ์  อธิบายว่า คำว่าสังคมสูงวัยไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุ แต่เป็นปัญหาของคนทั้งหมด โดยเฉพาะในวัยทำงานที่จะต้องแบกรับภาระในด้านเศรษฐกิจ และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยคนกลุ่มเดียว แต่ต้องรวมตัวกันสร้างระบบรองรับการพึ่งพาตัวเองของผู้สูงวัยให้ยาวที่สุด โดยมีหลักคิดสำคัญ 4 มิติ ได้แก่มิติทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม

“การพึ่งพาตัวเองได้ด้านเศรษฐกิจต้องทำงานมีรายได้ ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันคนอายุยืนมากขึ้นที่ค่าเฉลี่ย 70-80 ปี ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าสัดส่วนก็จะเปลี่ยนไปคนสูงอายุเยอะ คนทำงานน้อย ใครจะจ่ายภาษีของประเทศ หากจะหวังพึ่งรัฐก็คงเป็นเรื่องยาก ต้องขยายอายุการทำงาน โดยประเมินจากความเชี่ยวชาญและศักยภาพของแต่ละคน อย่าขยายช่วงอายุแบบเท่ากันหมด เพราะแต่ละอาชีพมีองค์ประกอบไม่เหมือนกัน” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ เผย

นอกจากนี้ การมีอาชีพสำรองก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญ เพื่อรองรับสภาพร่างกายอ่อนแรงลงหรือเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต เช่นเดียวกับการมีเงินออม เพราะเมื่อถึงวันหนึ่งที่ต้องหยุดทำงานก็ต้องมีเงินสำรองที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

“เพราะฉะนั้นสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของหนุ่มสาว เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้ หากรอให้ถึงตอนนั้นไม่ทันแล้ว อย่างภาครัฐสามารถจัดระบบให้เกิดการออมได้ เช่น ทุกวันนี้มีการเก็บ VAT 7% อาจจะเพิ่มอีก 3% รวมเป็น 10% โดยระบุชื่อของแต่ละคนลงไปเพื่อเก็บ 3% นั้นเข้าระบบการออมของแต่ละคนเพื่อคืนกลับมาให้ภายหลัง โดยรัฐอาจสมทบเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง สิ่งสำคัญต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการออมให้ได้”

อดีตนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามซึ่งเป็นโจทย์สำคัญว่า ในมิติสภาพแวดล้อม ต้องมีการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเอื้ออำนวยให้สะดวกในการใช้ชีวิตประจำ ไม่ใช่แค่ที่บ้าน แต่รวมถึงที่ทำงาน สถานที่ราชการและที่สาธารณะทั้งหลายต้องออกแบบและปรับปรุงให้เหมาะกับทุกคน ในด้านสุขภาพเราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุแก่ช้าที่สุดและเจ็บป่วยสั้นที่สุด?

นอกจากการรณรงค์เรื่องการออกกำลังกายและรักษาสุขภาพของตัวเองแล้ว ประธานคณะกรรมการนโยบายส.ส.ท. มองว่า การสร้างระบบดูแลผู้สูงวัย เช่น ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยที่มีการดูแลเรื่องกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย การฝังเข็ม และกิจกรรมบำบัดต่างๆ คือสิ่งที่ควรมี รวมไปถึงระบบอาสาสมัครเยี่ยมบ้านสำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยติดเตียง

“ในแง่ของสังคม การรวมตัวกันของกลุ่มผู้สูงอายุ ทำกิจกรรมด้วยกันจะสร้างพลังได้อย่างดี ทุกเครือข่ายในชุมชนไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน อสม. โรงพยาบาล ต้องร่วมกันบูรณาการสร้างกิจกรรม สร้างความสุข การมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนทุกวัย ยิ่งถ้าแต่ละตำบลมีศูนย์ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับสภาพแวดล้อม เรื่องสุขภาพ ยิ่งดีมาก แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน”

ด้านกรรณิการ์ บันเทิงจิตร ผู้จัดการสำนักงานประสานงานนโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) เผยว่า จากการถอดบทเรียนแผนบูรณาการรองรับสังคมสูงวัยในระดับตำบล ซึ่งมีการจัดทำเป็นครั้งแรกของไทย โดยเริ่มนำร่องจาก 30 ตำบล 8 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ชัยนาท กาญจนบุรี ชัยภูมิ นครราช อุบลราชธานี ตราดและตรัง พบ 7 ปัจจัยการขับเคลื่อนระบบรองรังสังคมสูงวัย ระดับตำบล ได้แก่

1.คณะทำงานที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน 2.การสำรวจ รวบรวมและวิเคราห์ข้อมูลของพื้นที่ 3. การสื่อสารสร้างความเข้าใจสังคมสูงวัย 4. การสร้างความร่วมมือภายในและประสานความร่วมมือภายนอก 5.ใช้กิจกรรมหรือทุนที่มีในชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน 6.ผลักดันการรองรับสังคมสูงวัยเป็นนโยบายหรือวาระของตำบล อำเภอและจังหวัด 7. การใช้งานวิจัยเป็นกระบวนการไปสู่การขับเคลื่อนสังคมสูงวัย

อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท (7 ตำบล) คือหนึ่งในตัวอย่างของการขับเคลื่อนที่เริ่มด้วยการทำความเข้าใจสังคมสูงวัยคืออะไร มีความเกี่ยวข้องกับทุกคนอย่างไร และเหตุใจทุกคนในสังคมต้องมีส่วนร่วม พร้อมระดมคณะทำงานจากหลายภาคส่วน รวบรวมข้อมูลพื้นที่ทำงาน เพื่อวิเคราะห์สื่อสาร หาความสัมพันธ์ของแผนงานแต่ละหน่วยงาน และตกลงแนวทางร่วมกันที่สอดรับความต้องการของคนในพื้นที่ จนได้แผนรองรับสังคมสูงคือ 5D 4มิติ ผ่านการทำงานของ 5 เสือ

แนวทาง 5D คือ ตัวเราดี ครอบครัวดี ผู้นำธรรมชาติดี เครือข่ายชุมชนดีและการสื่อสารดีใน 4 มิติทางเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมและสุขภาพ ผ่าน 5 เสือได้แก่ ภาคีเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุระดับชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ชมรมอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สำหรับมิติทางเศรษฐกิจที่ปรากฏเป็นรูปธรรม คือแปลงนาและสวนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่เจ้าของเคยทำงานโรงแรมแล้วย้ายกลับมาทำงานที่บ้าน ปัจจุบันที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นบทเรียนเรื่องการจัดการรายได้เพื่อรองรับสังคมสูงวัย

ขณะที่มิติสภาพแวดล้อม คือการร่วมแรงร่วมใจสร้างและปรับปรุงบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมซึ่งล้วนเป็นจิตอาสา มิติสุขภาพและสังคมคือการเยี่ยมบ้านดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

“สิ่งที่ได้จากการทำงานครั้งนี้ พวกเรา (ท้องถิ่นที่ร่วมทำงานด้วยกัน) เกิดความเข้าใจเรื่องสังคมสูงวัยได้ดีขึ้น รู้จักใช้คนใช้กลไกทำงาน ใช้งานหรือกิจกรรมที่ทำอยู่ แผนรองรับสังคมสูงวัยไม่ใช่แผนใหม่ แต่เป็นแผนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้ว เพียงแต่เราจับมารวมกันและบูรณากันทั้ง 4 มิติ” อาจารย์กรรณิการ์ กล่าว