ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ ออกแถลงการณ์ 8 ข้อ เหตุกราดยิงหนองบัวลำภู  ห่วงผู้ประสบเหตุเกิดโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุ หรือ PTSD ขอให้เลือกรับคำปรึกษาหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพึงระวัง ตระหนักถึงผลกระทบการนำเสนอข่าว และเตือนผู้ใช้โซเชียลฯเคารพต่อความสูญเสีย งดแชร์คลิป ภาพเหตุการณ์ เร่งเยียวยาจิตใจ  ป้องกันเด็กเล็กรับรู้ข่าวสาร  

 
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ออกแถลงการณ์ 8 ข้อ ถึงเหตุการณ์กราดยิงในศูนยพัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู โดย 

1.ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนี้ การสูญเสียเด็กและบุคลากรผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถือเป็นเหตุการณ์กระทำความรุนแรงที่สังคมไทยไม่สามารถยอมรับได้ การกระทำความรุนแรงต่อเด็กและผู้ดูแลเด็กที่เกิดขึ้น บุคคลที่เสียชีวิตเป็นผู้บริสุทธิ์ ถือเป็นเหตุการณ์ที่โหดเหี้ยม ทารุณกรรมจิตใจของคนทั้งประเทศ ขอให้ผู้ที่ประสบหรืออยู่ในเหตุการณ์โดยตรง พึงระมัดตนเองระวัง โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ขอให้เลือกเข้ารับบริการคำปรึกษาจากหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อคลายภาวะเสี่ยงซึมเศร้า

2. ขอให้หน่วยงานรัฐ องค์กรวิชาชีพ สื่อมวลชน ที่เกี่ยวข้อง ระลึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วยความมีสติ ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้น ร่วมกันแสดงความเคารพต่อความสูญเสียของครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เข้าใจถึงความรู้สึกของครอบครัว ซึ่งเหตุความรุนแรงในลักษณะนี้มักก่อให้เกิดความโกรธแค้น ความโศกเศร้า ความกลัว และความวิตกกังวล ต่อประชาชนในพื้นที่และประชาชนที่ได้รับข่าวสาร

3. ขอกระตุ้นเตือนผู้ใช้สังคมออนไลน์ กรุณางดแชร์ภาพ คลิปวีดีโอ เหตุการณ์ดังกล่าว ที่จะเป็นการกระทำซ้ำเติมความทุกข์ ความเศร้า ขยายความเกลียดแค้นชิงชังให้ขยายตัวมากขึ้นโดยไม่จำเป็น และยังเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อญาติและคนรอบข้างของผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก การนำเสนอที่เกินความจำเป็นไม่มีประโยชน์ใดต่อสังคมโดยรวม ทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพจิตต่อสังคมในวงกว้าง

4. ขอเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสหวิชาชีพ และที่จะต้องทำงานเยียวยาสภาพจิตใจของเหยื่อ ครอบครัว ญาติ ของผู้เสียชีวิต ขอให้พึงระมัดระวังและตระหนักถึงสภาวะสุขภาพจิตของตนเองไม่ให้มีภาวะเครียดและซึมเศร้าร่วมไปด้วยกับเหตุการณ์ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิต ดูแลผู้ประสบเหตุและครอบครัวอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังผลกระทบในวงกว้างของสุขภาพจิตในชุมชนด้วย

5. ขอให้ผู้ปกครองระมัดระวังมิให้เด็กและเยาวชน รับรู้ เข้าถึงข่าวสารเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ เนื่องจากวัยของเด็กเล็กยังมิควรรับรู้ รับทราบถึงเหตุการณ์ที่มีความสะเทือนใจมากเช่นนี้ เพราะอาจจะทำให้เกิดความหวาดกลัว กรณีเด็กโตหรือเยาวชน ควรเฝ้าระวังบุตรหลานมิให้เสพข่าวนี้มากจนเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่มองว่าโลกนี้มีอันตรายมากกว่าที่เป็นจริง เนื่องจากการเปิดรับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในสื่อเป็นเวลานาน (Mean World Syndrome) ควรใช้โอกาสนี้สร้างความรู้แก่เด็ก ในแง่มุมของการป้องกันตัว ทักษะในการเอาตัวรอดและควรแนะนำบุตรหลานที่โตและใช้สื่อสังคมออนไลน์ ให้ใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน ระมัดระวังการเสพสื่อมากจนมีปัญหาหวาดกลัวและภาวะซึมเศร้า

6. ขอสนับสนุนให้หน่วยงานด้านการดูแลเด็กและครอบครัวในระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้ การป้องกันตัว การรับมือกับภัยฉุกเฉิน การก่อเหตุวินาศกรรม การก่อการร้าย แก่เจ้าหน้าที่ ครู ผู้ดูแลเด็ก ที่ปัจจุบันคุกคามเข้ามายังพื้นที่เด็กและเยาวชน เพื่อให้กรณีเหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การถอดบทเรียน เพื่อสร้างมาตรการระวังภัย ป้องกันภัย ในสถานศึกษา พื้นที่บริการสาธารณสุข และพื้นที่พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ควรปลอดภัยจากความเสี่ยงวินาศกรรม เหตุการณ์ร้ายทุกรูปแบบ

7. ขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ริเริ่มโครงการ-มาตรการ-บริการ ด้านสุขภาพจิต ในการเฝ้าระวังเยียวยาสภาวะปัญหาสุขภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า เครียด กดดัน และมีพฤติกรรมแนวโน้มที่จะก่อเหตุความรุนแรง อาชญากรรม วินาศกรรมภัยก่อการร้าย เพื่อป้องกันเหตุที่เจ้าหน้าเหล่านั้นที่จะออกไปกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นภายนอกในสังคม

8. ขอให้ตระหนักถึงผลร้ายของยาเสพติดที่มีผลต่อสมองและพฤติกรรมของคนในระยะยาว และขอให้ทุกองค์กรในสังคมและรัฐบาลให้ความสำคัญกับการต่อต้านและควบคุมยาเสพติดทุกประเภทอย่างจริงจัง