ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าสาธารณสุขไทยยุคใหม่หลังโควิด 19 ต้องพร้อมทั้ง คน-ของ-ยุทธศาสตร์ และมีความมั่นคงของระบบสาธารณสุข เพื่อเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก ทั้งการรักษา ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ Medical Tourism และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาด้านการแพทย์

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ห้อง World Ballroom โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษในงานประชุมวิชาการประจำปี 2565 แพทยสภา-ปธพ.ครั้งที่ 9 หัวข้อ “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย หลังโควิด 19” โดยมีผู้สำเร็จหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 และ 10 สถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน

นายอนุทิน กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ทำให้ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และอาจสร้างวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขไม่เข้มแข็งพอจะฟื้นตัวได้ยาก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการจัดอันดับว่ามีความมั่นคงทางสาธารณสุขเป็นอันดับที่ 5 จาก 195 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน
ทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ด้วยความท้าทายต่างๆ ระบบสาธารณสุข จึงต้องพร้อม ทั้งคน ของ และยุทธศาสตร์ ด้าน “คน” คือ บุคลากรทุกภาคส่วนที่มีความเชื่อมโยงกับการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น นโยบาย 3 หมอที่มี อสม. เป็นหมอประจำบ้าน ทำงานร่วมกับหมอสาธารณสุข และหมอเวชปฏิบัติครอบครัว สื่อมวลชน ภาคเอกชน นักวิชาการ นักธุรกิจต่างๆ เป็นการขยายขอบเขตการให้บริการ ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล ลดอัตราการป่วยหนัก การครองเตียง และงบประมาณ

ด้าน “ของ” คือการเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากร เช่น สถานที่ที่ใช้สำหรับรักษา, ฐานข้อมูลดิจิทัล ทางสุขภาพของประชาชนแบบไร้รอยต่อ, เทคโนโลยี Telemedicine หรือแพทย์ทางไกล ช่วยลดภาระและค่าใช้จ่าย ในการเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา นำมาสู่โอกาสทางสาธารณสุข มีการพัฒนาระบบสาธารณสุขของชาติ บริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างการหมุนเวียนที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจด้วย ส่วนด้าน “ยุทธศาสตร์” มองว่าบทบาทของสาธารณสุขเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด “Health for Wealth” นำ “ความเข้มแข็งทางสาธารณสุข” มาสร้าง “ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ”  โดยตั้งเป้าอนาคตอันใกล้ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางสุขภาพของโลก ทั้งการรักษา การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ Medical Tourism รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาด้านการแพทย์ด้วย

“หลังโควิด19 มั่นใจว่า ประเทศไทยจะมีรายได้เข้ามาอีกมาก ด้วยระบบสาธารณสุขของไทยที่ชาวต่างชาติให้ความเชื่อถือ จากการรักษาพยาบาลด้วยอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัย มีมาตรฐานสูง ต้นทุนการใช้จ่ายคุ้มค่า ซึ่งต้องร่วมมือกันพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้ยั่งยืน เพราะระบบสาธารณสุขที่ดี จะทำให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ชาวต่างชาติจะเข้ามาประเทศไทย” นายอนุทิน กล่าว