ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดสธ.เผยหลังลงนามถ่ายโอนภารกิจ อบจ. 6 จังหวัด - 441 รพ.สต. ยังไม่พบปัญหาการบริการ เหตุ สธ.เตรียมพร้อมป้องกันปัญหากระทบ ปชช.  มีสำรองยาล่วงหน้า 2 เดือน และให้แพทย์ที่มีตรวจใน รพ.สต.ยังทำงานต่อเนื่อง มี MOU ป้องกันปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการจ้างงานลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงฯ  หาก อบจ.ไหนยังไม่พร้อม ทาง สธ.ช่วยจ้างต่อเนื่องเบื้องต้น 2 เดือนระหว่างรอ อบจ. รับช่วง ส่วนกลุ่มอยากขอกลับคืนกระทรวงฯ ทำไม่ได้ เพราะมติ ครม.ออกมาแล้ว 

จากกรณีการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการถ่ายโอน สอน.และ รพ.สต.ให้แก่ อบจ. 49 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น  เบื้องต้นมีอบจ.พร้อมลงนามถ่ายโอนภารกิจ และ MOU ความร่วมมือ ในการพัฒนาศักยภาพของ อบจ. ด้านการสาธารณสุขมูลฐานและการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ 6 จังหวัด คือ ภูเก็ต สกลนคร ระยอง ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ และนครปฐม รวมเป็น รพ.สต. 441 แห่ง 

ปรากฎว่า มีรายงานข่าวว่า อบจ.บางแห่งที่ก่อนหน้านี้มติครม. ให้ถ่ายโอน แต่จนขณะนี้ยังไม่มีความพร้อมในการลงนามร่วมกับ สธ. เนื่องจากประเด็นสำคัญคือ การจ้างลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขด้วยเงินบำรุงต่อจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้บุคลากรในพื้นที่ที่ต้องการถ่ายโอน และบุคลากรที่เป็นลูกจ้างและพนักงานกระทรวงฯ บางส่วนกังวลเรื่องนี้

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เผย สัปดาห์แรกถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ให้ อบจ.แล้ว 6 จังหวัด รวม 441 แห่ง)

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565  นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าวว่า ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมการถ่ายโอนภารกิจ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านจากกระทรวงสาธารณสุขไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)  ได้เตรียมพร้อมเรื่องต่างๆมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อมีการถ่ายโอนไปส่วนหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับรายงานว่าประชาชนหรือผู้รับบริการมีปัญหาการรับบริการแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะมีการปิดจุดอ่อนตรงนี้ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านเกรงว่าจะเกิดปัญหา จึงทำงานเชิงรุกไว้ก่อน เช่น ทาง สธ. ได้เอื้ออำนวยจัดส่งยาให้ รพ.สต. บางแห่งสำรองไว้ประมาณ 2 เดือน 

"นอกจากนี้  รพ.สต.แห่งใดมีแพทย์บริการตรวจรักษา และหากถ่ายโอนแล้วไม่มีจะทำอย่างไร  ซึ่งได้มีการทำเอ็มโอยู(MOU) ร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และอบจ.ที่ถ่ายโอนไป 6 จังหวัด และ  441 รพ.สต. โดยให้แพทย์ช่วยตรวจรักษาไปก่อนระหว่างรอ อบจ.พร้อม ซึ่ง MOU เขียนชัดถึงระบบบริการที่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างไรเมื่อไปอยู่ อบจ.แล้ว โดยทาง อบจ.ก็ต้องวางแผนและรับช่วงต่อจากนี้ เพื่อไม่ให้กระทบการบริการประชาชน" นพ.พงศ์เกษม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า บุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม มีฟีดแบคอย่างไร เห็นว่าบางส่วนอยากขอโอนกลับมากระทรวงสาธารณสุข    รองปลัด สธ. กล่าวว่า  กรณีข้าราชการที่ถ่ายโอนไปแล้วนั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไร  มีเพียงบางส่วนที่อยากโอนกลับมากระทรวงฯ ซึ่งตรงนี้ต้องให้ทาง อบจ.ไปพิจารณา เพราะเรื่องนี้ผ่านมติ ครม.เรื่องการถ่ายโอนมาแล้ว  หมายความว่า บุคลากรที่ถ่ายโอนไปแล้วนั้น จะไม่ใช่ของกระทรวงสาธารณสุขอีก แต่เป็นของอบจ. 

"ที่กังวล คือ ประเด็นเรื่องการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) ว่า ทาง อบจ.จะมีการจ้างต่อไปหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาจึงมีการทำข้อตกลงร่วมกันหรือ  MOU เรื่องนี้ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขก็กังวลว่า เมื่อถ่ายโอนไปแล้วทาง อบจ.จะสามารถจ้างต่อได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากงบประมาณที่ตั้งไว้อาจไม่ได้เซ็ตไว้สำหรับค่าจ้างส่วนนี้ทั้งหมด  ระหว่างรอ อบจ.มีความพร้อมเรื่องนี้  ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงช่วยเหลือด้วยการจ้างงาน พกส. และลูกจ้างกลุ่มที่รอการถ่ายโอนไปก่อน จนกว่า อบจ.จะพร้อมจ้างงานต่อก็จะสามารถ MOU ต่อได้ทันที" นพ.พงศ์เกษม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากระทรวงฯจะจ้างลูกจ้าง กับ พกส. ต่อไปอีกนานเท่าไหร่จนกว่า อบจ.จะพร้อม นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า เบื้องต้น 2 เดือนแรกก่อน จนกว่า อบจ.จะพร้อมรับช่วงการจ้างต่อไป ซึ่งขณะนี้มีรพ.สต. 441 แห่ง และ อบจ. 6 จังหวัดที่พร้อมและรับภารกิจต่อไปแล้ว ดังนั้น  ระหว่างนี้ที่เหลืออยู่ก็ต้องมีการดำเนินการให้พร้อมตรงนี้เช่นกัน 

เมื่อถามต่อว่า หากเกิน 2 เดือนแล้ว ทางอบจ.ยังไม่พร้อมจะดำเนินการอย่างไร นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า  สธ.ก็ต้องช่วยไปก่อน  

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่ากรณีการจ้างลูกจ้างและพกส. หมายถึงจ้างให้ไปทำงานที่รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้ว หรือจ้างอยู่ที่รพ.ในสังกัดกระทรวงฯ นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า  ตามระเบียบต้องจ้างบุคลากรให้ทำงานในส่วนราชการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น หากรพ.ไหนจ้างด้วยเงินบำรุง ก็ต้องทำงานให้กับรพ.นั้นๆ เพราะระเบียบเงินบำรุง ไม่สามารถจ้างและยกให้หน่วยงานอื่นในการปฏิบัติงาน ทำเช่นนั้นไม่ได้ จะผิดระเบียบเงินบำรุง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตรวจสอบเรื่องนี้ 

**เมื่อถามกรณีลูกจ้างและ พกส. ที่ขณะนี้ สธ.จ้างด้วยเงินบำรุงสธ.ระหว่างรอ อบจ.นั้น หากต้องการเปลี่ยนใจกลับมาอยู่กับกระทรวงฯ ทำได้หรือไม่ นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า มีมติครม.ออกมาแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะก่อนจะถ่ายโอนได้มีการสอบถามและส่งเรื่องมานานแล้ว แม้แต่ข้าราชการที่ถ่ายโอนไปก็เช่นกัน เมื่อถ่ายโอนก็จะออกจากระบบของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 

"ในเรื่องระบบบริการประชาชนนั้น  สธ.มีการเตรียมพร้อมก่อนถ่ายโอน โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านมาก่อนแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน ส่วนลูกจ้าง ทาง สธ.ก็ช่วยจ้างไปก่อน และรอความพร้อมของ อบจ.เพื่อรับช่วงต่อจากนี้" รองปลัดสธ.กล่าว

 

ข่าวเกี่ยวข้อง: 

-"เลอพงศ์" ตอบชัด กรณีสธ.ห่วงการจ้างงานต่อ "ลูกจ้าง-พนง.กระทรวงฯ" เผยขณะนี้ อบจ.ทำเรื่องสัญญาการจ้างเสร็จแล้ว

-คกก. MIU สธ. เสนอ 5 ประเด็นสำคัญในการถ่ายโอน รพ.สต.ไป อบจ.

-สถานีอนามัย-รพ.สต. ถ่ายโอนไป อบจ. ปีงบ 66 สปสช.จ่ายค่าบริการเหมือนเดิม

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org