ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” รับทราบกรณี ป.ป.ท.พบ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 26 แห่งในโคราชส่อทุจริตเหตุเบิกจ่าย ล่าสุดปลัดสธ. ติดตามตรวจสอบ เป็นเหตุการณ์เมื่อเดือนก.ย. 2561 ชี้ใครทำผิดต้องได้รับโทษ ขณะที่ สธ.มีประชุมทุกเดือน มีรายงานการลงโทษคนกระทำผิดตลอด แต่ทั้งหมดต้องให้ความเป็นธรรมให้ได้ชี้แจงด้วยว่า เกิดจากจุดไหน อย่างไร  ส่วนระบบเบิกจ่ายมีช่องโหว่หรือไม่   ส่วนใหญ่การเบิกจ่ายเป็นของ สปสช. รู้ปัญหาดี มีการจัดระบบรัดกุม

 

จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ตรวจสอบพบสำนักงานธารณสุขอำเภอ (สสอ.) 26 แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ส่อทุจริตโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในการป้องกันโรคให้กับประชาชนของ สสอ. ปี 2562 โดยอาจจะไม่มีการจัดโครงการจริงตามที่มีการเบิกจ่าย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม  ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ว่า    จากรายงาน เรื่องนี้ เกิดปีงบประมาณ 2562 หรือเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ซึ่งตอนนั้นตนยังไม่ได้เข้ามารับตำแหน่ง แต่จะมาแล้วหรือยังไม่มาก็ไม่ใช่ประเด็น มีการทุจริตตรงไหนเราก็ต้องดำเนินการ โดยเรื่องนี้ ได้ให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการไปแล้ว และเป็นหน้าที่ ปลัดสธ.รับผิดชอบ ต้องมีการตรวจสอบทั้งประเทศด้วย โดยตนไม่ต้องไปสั่งการ หรือมอบหมายเพิ่ม 

 

เมื่อถามว่ากระทรวงสาธารณสุขก็มีกลุ่มงานตรวจสอบทุจริต ที่ผ่านมามีการตรวจสอบรายงานผลอย่างไรบ้าง นายอนุทิน กล่าวว่า มีการประชุมกพร.ทุกเดือนอยู่แล้ว มีรายงานเข้ามาว่ามีการลงโทษด้วยการเซ็นไล่ออก ลด ขั้น ตัดเงินเดือนไปไม่รู้กี่คน เรามีทีมกฎหมายกลั่นกรองตลอดเวลา เพราะเราก็ต้องการให้ความเป็นธรรม ว่าผู้ที่กระทำผิดนั้น กระทำผิดจริงหรือไม่ ถูกกลั่นแกล้งหรือไม่

 

เมื่อถามว่า กรณีที่มีรายงานต้องถูกลงโทษเข้ามามากเช่นนี้ เป็นเพราะมีช่องว่าง ช่องโหว่ ต้องปรับปรุงกฎระเบียบอะไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า จริงๆ กฎระเบียบมันป้องกันทุจริตอยู่แล้ว คนที่ทุจริตก็หาช่องทาง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่รอดสักราย ตั้งแต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีปัญหาสถานพยาบาลทุดจริตเบิกจ่ายต่างๆ ก็มีการดำเนินการยกเลิกสัญญา และเอาเงินที่เสียหายไปก็เอามาคืนแล้ว ส่วนกลุ่มข้าราชการก็มีการลงโทษตามระดับความผิดไป ข้าราชการก็ลงโทษได้ตามนี้ ไม่ใช่เด็กในบ้าน หากเป็นเด็กในบ้านทุจริตก็ต้องถองกัน

 

เมื่อถามย้ำว่า มีการมองว่าที่มีการทุจริตเพราะมีช่องโหว่ที่การเบิกจ่าย จะต้องจัดการให้มีความรัดกุมกว่านี้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนใหญ่การเบิกจ่ายเป็นในส่วนของ สปสช. ซึ่งเขารู้ปัญหาและเร่งแก้ไขอยู่ ทั้งนี้เป็นเรื่องดีที่มีคนช่วยสอดส่อง เรื่องทุจริตเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ผิดกฎหมาย เข้าคุก