ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี รับเรื่องจริง คนไข้ทะลักรับบริการ มีตกค้าง   เหตุ สปสช.ยกเลิกบัตรทอง รพ.เอกชน 9 แห่งในพื้นที่กทม. โดยกรุงเทพตะวันออกจะมาที่ รพ.นพรัตนฯ จากปกติรับสิทธิ์บัตรทองกว่า 2 แสนคน เพิ่มอีก 1.4 แสนคน เฉลี่ยเข้ารับบริการในรพ.จริงเพิ่มราว 50%  บริหารจัดการอย่างดีที่สุด  เสริมเตียง  จ้างแพทย์ พยายามเพิ่มมาดูแลประชาชน ชี้! รพ.นพรัตนฯ เป็นปลายเหตุ เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง ยังมีรพ.รัฐอื่นๆในกรุงเทพฯประสบปัญหาเช่นกัน  ล่าสุด สปสช.เตรียมหา รพ.เอกชนอื่นๆมารองรับ หลังยกเลิก 9 แห่งก่อนหน้านี้   

 

ตามที่ Hfocus ได้เผยแพร่ข้อมูลจากเพจ Nurses Connect โพสต์วิกฤต รพ.รัฐ ย่านรามอินทรา ประสบปัญหาผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก จนมีผู้ป่วยตกค้าง เหตุ สปสช.มีการปรับเปลี่ยนยกเลิกบัตรทอง รพ.เอกชน 9 แห่งที่มีปัญหาการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากเป็นสิทธิ์ว่าง แต่สามารถเข้ารับบริการได้ทุกแห่งในเครือบัตรทอง ขณะที่รพ.รัฐ ย่านรามอินทราจึงเป็นอีกแห่งที่ประสบปัญหาคนไข้ทะลัก  จนทำให้ เพจ Nurses Connect ต้องออกมาโพสต์เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจตรวจสอบและแก้ไขเรื่องนี้

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กลุ่ม Nurses Connect ขอผู้มีอำนาจตรวจสอบ หลัง รพ.รัฐแห่งหนึ่งวิกฤต มีผู้ป่วยตกค้างรอรักษา เหตุบุคลากรไม่เพียงพอ เตียงรองรับไม่ไหว)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม  นพ.เกรียงไกร  นามไธสง  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี  ให้ข้อมูลกับทาง Hfocus เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากรพ.นพรัตนฯ เป็นรพ.รัฐสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่บริเวณรามอินทรา ว่า  ต้องยอมรับว่าในบริเวณย่านดังกล่าว คือ รพ.นพรัตนราชธานี และเป็นเรื่องจริงที่คนไข้มาใช้บริการจำนวนมากกว่าปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ซึ่งทาง รพ.พยายามรองรับอย่างดีที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่า บุคลากรมีจำกัด เตียงต่างๆ จึงทำให้มีความแออัด เกิดการรอคิว โดยเฉพาะผู้ป่วยในที่ต้องนอนรพ. ซึ่งทางตนได้พยายามปรับเกลี่ยมาโดยตลอด

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าปัญหาคนไข้ทะลักเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม คือ ช่วงที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ประกาศยกเลิกรพ.เอกชน 9 แห่งหรือไม่.... นพ.เกรียงไกร กล่าวว่า เป็นเช่นนั้น มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว อย่างปกติ รพ.นพรัตนฯ รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองอยู่ประมาณ 200,000 ราย แต่คนไข้บัตรทองที่ถูกยกเลิกไปจาก รพ.เอกชนในบริเวณย่านดังกล่าวอยู่ที่จำนวน 140,000 ราย  และยังมีรพ.อื่นๆอีกในแถบกรุงเทพตะวันออก

สรุปคือ ตัวเลขกลมที่รพ.นพรัตนฯต้องรับคนไข้บัตรทองเพิ่มขึ้นจากปกติอีก 140,000 ราย ดังนั้น รพ.นพรัตนฯ ซึ่งเป็นรพ.ของรัฐ จึงต้องรับคนไข้ที่เทมาหาเรา

“ดังนั้น คนไข้เข้ามาเยอะจริงๆ และ รพ.นพรัตนราชธานี เป็นปลายเหตุ เพราะเราเป็นรพ.รัฐบาล ที่ต้องดูแลประชาชนแถบกรุงเทพตะวันออก คนไข้มาเราจะปฏิเสธไม่ได้ เรารับได้เท่าไหร่ต้องรับ เพียงแต่จะมีปัญหาทางบุคลากรสาธารณสุข ที่ปัจจุบันก็มีจำกัดในการบริการคนไข้เดิมกว่า 2 แสนราย แต่เมื่อบวกเพิ่มอีก 50% ก็ต้องได้รับผลกระทบ ซึ่งจริงๆ เราแก้ไขมาตลอด มีการเสริมเตียงในวอร์ดคนไข้ (แผนก) ที่เสริมได้ พยายามบริหารจัดการให้คนไข้ได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว หากกลับบ้านได้ให้กลับ พยายามแก้ไขแต่ละจุด อย่างบุคลากรที่ทำงานหนักเราก็ปรับเกลี่ยงาน ต้องดึงคนจากวอร์ดที่งานอาจไม่หนักมาก ณ ตอนนั้น มาช่วยเหลือ รวมทั้งดำเนินการจ้างนอกเวลา ทั้งแพทย์ พยาบาล แต่ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบ เพราะไม่สามารถจ้างแพงเกินอัตราของราชการได้” ผู้อำนวยการ รพ.นพรัตนราชธานี กล่าว

นพ.เกรียงไกร  นามไธสง  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 

เมื่อถามว่ายังมีผู้ป่วยที่ตกค้างถึง 70 คนจริงหรือไม่... นพ.เกรียงไกร กล่าวว่า จริง อยู่ที่ประมาณ 50-70 คน เพราะคนไข้ที่มาก็หวังพึ่งพาคุณหมอ ส่วนจะส่งต่อได้มากน้อยแค่ไหน ต้องบอกว่าจริงๆ รพ.นพรัตนราชธานี เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งอันหนึ่ง เพราะรพ.ในเครือกรมการแพทย์ในกทม. รับผลกระทบเรื่องนี้หมด แม้แต่รพ.ในสังกัดกรุงเทพมหานคร

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างไร.. นพ.เกรียงไกร กล่าวว่า มีการหารือก่อนจะยกเลิก และให้รพ.รัฐในพื้นที่กทม.ช่วยรองรับระหว่างรอ รพ.เอกชนแห่งใหม่มารับช่วงต่อจากรพ.เอกชนรายเดิมที่ถูกยกเลิก   แต่รายละเอียดเรื่องนี้ต้องสอบถามทาง สปสช. เพราะเป็นระบบที่เขาดูแล เนื่องจากขณะนี้ทราบว่า สปสช.ให้สิทธิ์ว่าง หากเจ็บป่วยสามารถเลือกรพ.ที่ใกล้บ้าน

“เราก็พยายามบริหารเต็มที่เพื่อให้บริการประชาชนที่มาหาคุณหมอ ซึ่งรายที่จำเป็นต้องแอดมิด เราก็ต้องรับ โดยคนไข้รายไหนอาการดีขึ้น กลับบ้านได้ เราก็ต้องให้กลับ เพื่อให้คนไข้รายใหม่ที่รอคิวอยู่เข้าแอดมิดต่อไป”

เมื่อถามปัญหานี้จะเคลียร์ได้ และกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อไหร่ นพ.เกรียงไกร กล่าวว่า  สปสช.บอกว่าพยายามหา รพ.มารองรับเรื่องนี้อยู่ แต่ขอให้สอบถามทาง สปสช.ว่าความคืบหน้าเป็นอย่างไร

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

-  สปสช.ชี้ก่อนยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน 9 แห่ง ประสาน สธ.-กทม. เตรียมพร้อม ย้ำ!เข้าใจปัญหา-เร่งหา รพ.รองรับเพิ่ม!

สปสช.เตรียมเปิดให้ ปชช.สิทธิบัตรทอง 9 รพ.เอกชนถูกยกเลิกสัญญา เลือกหน่วยบริการใหม่ได้ 10 ต.ค.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org