ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.รับทราบผลกระทบกรณี สปสช.ยกเลิกสัญญารพ.เอกชน หลังพบปัญหาการเบิกจ่าย ชี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะ รพ.นพรัตนราชธานี เหตุเป็นโซนไร้รพ.รัฐอื่นๆ ขณะนี้อธิบดีกรมการแพทย์ได้หารือผอ.รพ.ในสังกัด ดำเนินการจัดการ ปรับเกลี่ยบุคลากร รวมทั้งจ้างพยาบาลนอกเวลาเพิ่มเติม ช่วยลดผลกระทบปชช.ทะลักรับบริการ

 

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคทะลักเข้ารับบริการ รพ.นพรัตนราชธานี หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน เหตุพบปัญหาการเบิกจ่าย ว่า  ได้รับรายงานว่า กรณีดังกล่าวส่วนใหญ่พบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และทางโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ซึ่งได้หารือกับทางอธิบดีกรมการแพทย์ถึงเรื่องนี้แล้วว่า หากบุคลากรในรพ.นพรัตนราชธานีไม่เพียงพอ จะมีการปรับเกลี่ยบุคคลในกรมมาช่วยสนับสนุน  ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หากตรงไหนช่วยได้ก็พร้อมช่วยเหลือ แต่เบื้องต้นได้สอบถามอธิบดีกรมการแพทย์แล้วว่า หากต้องการให้สำนักงานปลัดฯ สนับสนุนบุคลากรก็ยินดี

“เท่าที่ทราบสามารถจัดการตัวเองได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ตึงตัวพอสมควร เพราะว่าคนมารับบริการค่อนข้างมาก” ปลัดสธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีมีประชาชนผู้รับผลกระทบตั้งคำถามว่า ก่อนยกเลิกสัญญารพ. ควรหารพ.รองรับให้เพียงพอก่อนหรือไม่ จำเป็นต้องหากับสปสช.เรื่องนี้อย่างไร...  นพ.โอภาส กล่าวว่า  จริงๆ สปสช.มีการเตรียมการอยู่ แต่อย่างที่ว่าปัญหาตอนนี้คือ บุคลากรไม่เพียงพอในการรองรับผู้มาใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้จึงมีการบริหารจัดการอยู่ แต่อย่างที่ทราบพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีรพ.ในสังกัดกระทรวงฯ ไม่มากนัก จึงช่วยแก้ไขได้ไม่เต็มที่ อย่างรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นรพ.สังกัดกรมการแพทย์ ที่เป็นรพ.เฉพาะทางมากกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีรองปลัดสธ.คนที่ 5 ได้มอบหมายภารกิจให้ดูแลงานในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จริงๆ กรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต่างระดมมาช่วยกันหมด แต่ในส่วนของรพ.สังกัดกรมการแพทย์ ที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมากจะพบมากที่สุดคือ รพ.นพรัตนราชธานี เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพตะวันออก แถวนั้นรพ.รับส่งต่อ หรือรพ.ขนาดใหญ่ของรัฐไม่มีเลย จะมีที่รพ.นพรัตนฯ เพียงแห่งเดียว เมื่อสปสช.ยกเลิกสัญญาบัตรทองรพ.เอกชน บริเวณนั้น ที่มีประชาชนสิทธิ์บัตรทอง 1.5 แสนคน ทำให้ต้องเทมาที่ รพ.นพรัตนฯ นั่นเอง

“ขณะนี้ทางรพ.นพรัตนฯ พยายามบริหารจัดการอย่างดีที่สุด โดยเราได้ประสานกับ สปสช. และประสาน รพ.รอบๆ ทั้งของรัฐและเอกชนในการช่วยรับผู้ป่วยใน และกระจายผู้ป่วยนอกไปสู่ชุมชน ซึ่งกทม.ก็ได้เข้ามาช่วยดูแล ก็จะมีศูนย์อนามัยมาช่วยได้ อย่างรพ.นพรัตนราชธานี  ได้จ้างพยาบาลนอกเวลามาช่วย  ซึ่งเป็นการจ้างเอกชน ที่ไม่อยู่ในระบบราชการ เพื่อมาประจำในส่วนฉุกเฉิน หรือ ER   เนื่องจากคนไข้มาเยอะ” นพ.ธงชัย กล่าว

เมื่อถามว่ารพ.ในสังกัดกรมการแพทย์อื่นๆรับผลกระทบผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า จริงๆก็คล้ายกัน ทั้งรพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน แต่รพ.นพรัตนฯ เยอะสุด  เพราะพื้นที่กรุงเทพตะวันออกจะไม่มี รพ.รัฐที่อื่นอยู่ในบริเวณดังกล่าวเลย ขณะนี้ได้พูดคุยกับทางผอ.รพ.นพรัตนฯ แล้ว คิดว่าจะดีขึ้น เพราะมีการวางระบบการรักษาพยาบาล บางเคสไม่ต้องมา รพ. โดยรับยาไปกิน คุมอาการของโรค อย่างเบาหวาน ความดันได้ ก็ให้สามารถไปรับที่ศูนย์อนามัยของ กทม.แทน

 

 อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

-รพ.นพรัตนราชธานี รับผู้ป่วยทะลักจริง!  หลังสปสช.ยกเลิกบัตรทองรพ.เอกชน - เร่งแก้ปัญหาเสริมเตียง จ้าง “หมอ-พยาบาล” นอกเวลาเพิ่ม!  

-กลุ่ม Nurses Connect ขอผู้มีอำนาจตรวจสอบ หลัง รพ.รัฐแห่งหนึ่งวิกฤต มีผู้ป่วยตกค้างรอรักษา เหตุบุคลากรไม่เพียงพอ เตียงรองรับไม่ไหว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง