ปลัด สธ.ชี้เงินค่าเสี่ยงภัยโควิด มี 2 ส่วน ทั้งงบเงินกู้-งบฯกลาง การจัดสรรมาจากสำนักงบฯ ส่วนจังหวัดไหนงบฯไม่พอให้ทำเรื่องขอเข้ามาเพิ่ม จะจัดการให้ดีที่สุด ขณะที่ “หมอทวีศิลป์” เผยกรณีภูเก็ตอาจสื่อสารคลาดเคลื่อน มอบพื้นที่ดำเนินการ ด้านบุคลากรในจังหวัดเข้าใจ ขอขอบพระคุณผู้บริหารที่เห็นใจคนทำงาน
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการจ่ายค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด-19 ว่า ในมุมนโยบายค่าเสี่ยงภัยที่รัฐบาลออกนโยบายให้โควิดเป็นโรคติดต่ออันตรายสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 เราพยายามติดตามให้ได้งบประมาณทั้งหมด แต่งบประมาณดังกล่าว ผู้อนุมัติหรือผู้ที่จัดสรรนั้น คือ สำนักงบประมาณ ซึ่งมีการแบ่งเงินออกเป็นก้อนๆ ทั้งงบประมาณเงินกู้ และงบกลาง อย่างไรก็ตาม ทั้งงบฯเงินกู้ และงบกลางวิธีการใช้ก็แตกต่างกัน โดยในส่วนของงบเงินกู้นั้นจะต้องผ่านสภาพัฒน์ ซึ่งจะต้องการข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียด และด้วยเงินค่าเสี่ยงภัยมาจากหลายก้อน ในส่วนของบุคลากรสายวิชาชีพก็จะเอางบเงินกู้ไปจ่าย ซึ่งต้องมีหลักฐาน ขั้นตอนรายละเอียดมาก จึงมีการแยกงบอีกส่วนให้เป็นของสายสนับสนุน โดยงบทั้งสองก้อนคนละส่วน จะนำมาเกลี่ยกันไม่ได้
“จริงๆ ง่ายที่สุด คือ ต้องมีงบก้อนเดียวส่งมาให้กระทรวงสาธารณสุขจัดการจะง่ายขึ้นแต่อย่างไรก็ตามเนื่องจาก กติกามาจากงบหลายก้อน เราก็ต้อง Balance 2 อย่างให้ดี ถ้าเงินมาที่เราก้อนเดียวเลยมันก็จัดการง่าย จัดการทุกจังหวัดไปพร้อมๆกันได้แต่นี่เงินกู้ เงินงบกลางข้อแม้ในการจ่ายมันแตกต่างกัน แต่จะพยายามทวงถาม และจัดสรรให้ครบถ้วนตามนั้น แต่สิ่งสำคัญก็ต้องฝากกลับไปว่าให้ดูหลักฐานให้ครบ เพราะงบเงินกู้นั้นค่อนข้างเข้มงวด เนื่องจากต้องเสียดอกเบี้ย" นพ.โอภาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการจัดสรรงบฯ ที่แบ่งเป็นเงินกู้ และงบกลาง ไม่ได้มาจากส่วนกลางใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช่ งบเหล่านี้สำนักงบประมาณจัดสรรมา เราก็ต้องทำตามหลักเกณฑ์ ตามระเบียบที่วางไว้ ส่วนจังหวัดหรือพื้นที่ไหนติดขัดอะไร หรืองบไม่พอ เพราะเหตุใด ให้ทำเรื่องขอเพิ่มมาที่ส่วนกลาง แต่ต้องมีหลักฐานครบถ้วน ซึ่งเรื่องนี้ตนมอบ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ.ดูแล
เมื่อถามว่าขณะนี้บุคลากรมองว่า การจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดมีการแยกสายวิชาชีพให้ได้รับเงินก่อน นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ผู้ที่แยกงบสองส่วน คือ สำนักงบประมาณ ถ้ามาก้อนเดียวก็ง่าย แต่พอมาส่งก้อนก็ยุ่งยากพอสมควร
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กองคลังรายงานว่าค่าตอบแทนเสี่ยงภัยมีมาตั้งแต่ปี 2563 โดยใช้งบประมาณจาก 2 ก้อน ที่มีข้อแตกต่างในการใช้ คือ งบเงินกู้ ซึ่งจ่ายให้กลุ่มวิชาชีพ เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่เทคนิคอื่นๆ เพราะมีระเบียบการใช้งบเงินกู้ของสภาพัฒน์ฯ และงบกลางฯ จะให้กับกลุ่มสนับสนุนได้ด้วย จากที่ได้มาก่อนหน้านี้มีการจ่ายไปหมดแล้ว ส่วนงบประมาณที่ได้มาปี 2565 นั้น ได้รับมาประมาณ 870 กว่าล้านบาท ถือว่าค่อนข้างน้อย จึงให้นายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) ลดสัดส่วนตามจำนวนเงิน แต่ก็ได้แจ้ง สสจ.แล้วว่าหากงบประมาณไม่เพียงพอ ก็ขอให้ทำรวบรวมคำขอเพื่อขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม แล้วสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะได้ทำเรื่องขอเพิ่มเติม ตอนนี้กำลังให้ติดตามอยู่ว่าตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมาว่าใช้ไปเท่าไหร่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ในช่วงหลังงบฯ น้อยลง และต้องใช้ตามระเบียบของแหล่งเงินที่รับมา
เมื่อถามถึงหลักการจ่ายค่าเสี่ยงภัยของแต่ละกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ต้องมีการทำงาน หรือผลงานออกมาแล้วและทำคำขอขึ้นมา ใครเข้าเวรต่างๆ จำนวนเงินก็จะเป็นตัวหลัก แต่ระยะเวลาทั้งหลายยังต้องขอเวลาดูข้อมูล ทั้งนี้ท่านปลัดสธ.ให้โจทย์มาแล้วก็จะเร่งรีบประชุมดำเนินการกันต่อ จริงๆ ที่ผ่านมาทำกันมาดีๆ รัฐบาลมีการดูแลเจ้าหน้าที่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ยังขาดอยู่เท่าไหร่ก็ต้องดูภาพใหญ่กันอีกที
เมื่อถามว่าเมื่อมีการใช้งบฯ จาก 2 แหล่งที่มีเรียกการจ่ายเงินแตกต่างกัน ดังนั้น เหตุที่เกิดที่จังหวัดภูเก็ตนั้นเกิดจากการสื่อสารหรือไม่ มีการตรวจสอบหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ท่านปลัดสธ. ก็คิดว่าน่าจะเป็นประเด็นอย่างนั้น แต่คงต้องให้ทางภูเก็ตวิเคราะห์ตัวเอง เพราะเขาก็มีการตั้งคำขอขึ้นมา ส่วนได้ครบ ได้ไม่ครบ ก็ต้องมีการสื่อสารให้เจ้าหน้าที่กลุ่มต่างๆ ที่ได้รับค่าเสี่ยงภัยได้รับทราบ ต้องดูว่าประเด็นการชี้แจงของทางภูเก็ตเป็นอย่างไร ซึ่งมอบให้ สสจ.ภูเก็ต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่ดูแล คำตอบที่ดีที่สุดจึงอยู่ที่ภูเก็ตว่าคืออะไร มีการจ่ายตามสัดส่วนจำนวนเงินที่แจ้งไว้ หรือให้สัดส่วนตามวิชาชีพ ตามเวลา หรือมีการจัดสรรเงิน ซึ่งเมื่อเราจัดสรรเงินลงไปให้แล้วก็เป็นหน้าที่พื้นที่นำไปบริหารจัดการตามกฎระเบียบ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวย้ำว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ขอรับการสนับสนุนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 เดือนพฤศจิกายน 2564 – มิถุนายน 2565 รวมทุกกลุ่ม ประมาณ 13,500 ล้านกว่าบาท โดยได้รับการสนับสนุนจากงบเงินกู้ 11,500 ล้านกว่าบาท ซึ่งตามพ.ร.ก.เงินกู้ฯ กำหนดให้จ่ายได้เฉพาะกลุ่มวิชาชีพ กลุ่มเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคอื่นๆ ส่วนกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติงาน ประมาณ 2,000 ล้านบาท ครม. ให้ขอสนับสนุนจากแหล่งงบประมาณอื่น โดยได้ขอรับการสนับสนุนจากงบกลางปี 2565 และได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณ 871 ล้านบาท และมีหนังสือแจ้งการจัดสรรไปจังหวัดต่างๆ ลดทอนลงตามสัดส่วน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 โดยให้เร่งรัดเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 ส่วนงบประมาณส่วนที่ยังขาด ให้จังหวัดตรวจสอบข้อมูลและรายงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 เพื่อรวบรวม พิจารณา และประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งอื่นกับสำนักงบประมาณต่อไป
น.ส.พัสวี วิมลพัฒนา บุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานโควิด-19 ด่านหน้า รพ.ในจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้มีการสื่อสารทำความเข้าใจกับบุคลากรในสถานพยาบาลเกี่ยวกับงบค่าเสี่ยงภัย ซึ่งท่าน สสจ.จะทำเอกสารยื่นไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำการเบิกเงินเพิ่มเติมให้แก่บุคลากรที่ยังไม่ได้รับส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ ทุกคนพอใจและเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว ขอขอบพระคุณท่านนายแพทย์สาธารณสุข ท่านผู้อำนวยการ และต้องขอขอบพระคุณผู้บริหารกระทรวงฯ ท่านปลัด สธ. และรองปลัดสธ. ที่เห็นความสำคัญกับพนักงานระดับรากหญ้าอย่างพวกตน
- 5404 views