ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพง. - Nurses Connect  ร่วม กมธ.การแรงงาน เตรียมพบผู้บริหาร สธ.หลังปีใหม่ ติดตามการแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน “หมอ-พยาบาล” และวิชาชีพอื่นๆ พร้อมท้วงมติ คกก.ค่าตอบแทนปรับขึ้นค่าโอที 8% ค่าเวรผลัดบ่ายดึก 50%  ไม่สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ พยาบาลขึ้นชั่วโมงละ 6 บาท ลูกจ้างบางตำแหน่งขึ้นแค่ 3-4 บาท/ชม. เตรียมส่งหนังสือถึงผู้บริหารกระทรวงฯ ขอความชัดเจนเงินค่าตอบแทน  ด้านรองปลัดสธ.เผยขั้นตอน

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2565 เมื่อช่วงเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบเดินหน้าเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกวิชาชีพ โดยเพิ่มค่าโอที 8% และค่าเวรผลัดบ่าย/ดึกอีก 50% ในแต่ละวิชาชีพ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ จากเดิม 1,100 บาท เป็น 1,200 บาทต่อผลัด , เภสัชกร จากเดิม 720 บาท เป็น 780 บาทต่อผลัด , นักวิทยาศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข จาก 600 บาทเป็น 650 บาทต่อผลัด ฯลฯ โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินการก่อนส่งเรื่องให้กรมบัญชีกลางพิจารณาต่อไป

(อ่านข่าวเพิ่ม : ข่าวดี! สธ.จ่อเพิ่ม "ค่าโอที 8 % -ค่าเวรผลัดบ่าย-ดึก  50%”  ทุกวิชาชีพ)

 

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2565  พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร  ผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า  ต้องถามก่อนว่าไม่ขึ้นมาสิบกว่าปี แต่มาขึ้นค่าโอทีเพียง 8%  เพียงพอหรือไม่ เอาชนะเงินเฟ้อ เพียงพอกับค่าครองชีพจริงหรือไม่ ที่สำคัญการเพิ่มค่าตอบแทนทั้งค่าโอที และค่าเวรผลัดบ่าย-ดึก ยังต้องใช้เงินบำรุงจากโรงพยาบาล หมายความว่า ไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลจะมีศักยภาพในการเพิ่มเงินดังกล่าว  อย่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องทางการเงินดีก็จะจ่ายได้  และบางแห่งจ่ายเกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขออกมติมาเสียอีก   แต่โรงพยาบาลที่สภาพคล่องทางการเงินไม่ดี  งบประมาณน้อยจะทำอย่างไร ตรงนี้จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงพยาบาล  และประเด็นของเงินบำรุงก็จะมีการเขียนแนบท้ายอยู่ตลอดว่า ขึ้นกับสภาพคล่องของแต่ละแห่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าตรงนี้มีทางออกเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเคยให้ข้อมูลว่า สามารถปรับเกลี่ยในพื้นที่ โรงพยาบาลใหญ่ช่วยโรงพยาบาลเล็ก เห็นด้วยหรือไม่ พญ.ชุตินาถ กล่าวอีกว่า  ปัญหาคือ เราไม่ทราบว่ามติดังกล่าวคำนวณจากอะไร อาจคำนวณจากตัวเลขที่เหมาะสมกับสภาพคล่องของโรงพยาบาล แต่กลับไม่ได้คิดถึงคนทำงานว่า เหมาะสมหรือเพียงพอหรือไม่ สรุปคือ ที่มาของการคิดค่าตอบแทนตรงนี้แตกต่างกัน หากเอาคนทำงานเป็นหลักก็จะไม่มีปัญหา การคิดแบบนี้ไม่ถูกต้อง ส่วนโครงการพี่ช่วยน้อง อย่างโรงพยาบาลใหญ่ช่วยโรงพยาบาลเล็กเป็นอะไรที่ไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะได้รับการช่วยเหลือตลอด แต่ละแห่งก็มีความจำเป็นใช้จ่ายแตกต่างกัน เรื่องนี้ไม่ควรฝากไว้ที่อนาคต

“อย่างแพทย์เพิ่มจาก 1,000 บาท เป็น 1,200 บาทต่อผลัด หรือชั่วโมงละ 12 บาท ส่วนของวิชาชีพอื่นๆ เช่น นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาล เพิ่มจาก 600 บาทเป็น 650 บาทต่อผลัด การเพิ่มขึ้นแบบนี้ไม่ได้มากมายนัก  จริงๆควรมีการสอบถามบุคลากรที่ทำงานด้วย ว่า เพียงพอหรือไม่ การทำแบบนี้เราจะเห็นว่า กระทรวงฯให้คุณค่าพวกเราจริงหรือไม่ ยิ่งช่วงทำงานโควิด เราทำงานหนักมาก มีปัญหาในพื้นที่เยอะ ควรคุยกับคนในพื้นที่มากกว่านี้ หรือสำรวจประชาพิจารณ์ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีเลย” พญ.ชุตินาถ

พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และสมาพันธ์แพทย์ฯ ได้ร่วมประชุมกับทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ใน สธ.เมื่อเดือนต.ค.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมาธิการการแรงงานจะติดตามเรื่องกับทาง สธ. อีกครั้งหลังจากหารือ 3 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดช่วงเดือน ม.ค.2566 ดังนั้น หลังปีใหม่จะขอติดตามเรื่องปัญหาชั่วโมงการทำงานและค่าตอบแทนว่า สอดคล้องกันมากน้อยแค่ไหน

“การประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนของกระทรวงฯ ที่ผ่านมาเป็นการประชุมครั้งแรก ก็หวังว่าจะมีการประชุมครั้งอื่นๆอีกที่จะเชิญผู้เกี่ยวข้อง คนทำงานจริงมาสอบถามข้อมูล เพราะควรต้องสอบถามทุกวิชาชีพ อย่างลูกจ้างตำแหน่งอื่นๆของรพ. เช่น เวรเปลได้เงิน 300 บาทเป็น 330 บาท เพิ่มขึ้นชั่วโมงละ  3-4 บาท เขาจะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งขณะเดียวกันทาง สพง.จะทำหนังสือถึงกระทรวงฯ เกี่ยวกับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ว่า ยังไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ หรือสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน” ตัวแทน สพง. กล่าว

ด้าน น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect   กล่าวว่า  ทาง กลุ่ม Nurses Connect  จะขอร่วมกับคณะกรรมาธิการการแรงงานเดินทางเพื่อติดตามสอบถามทาง สธ.เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน และค่าตอบแทนที่เหมาะสมว่า ต้องเป็นเท่าไหร่อย่างไร เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนฯ ครั้งที่ 1 ออกมายังดูเหมือนไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพราะจริงๆการเพิ่มค่าโอทีจากจาก 600 บาทเป็น 650 บาทต่อผลัด ถือว่าไม่มากมาย บางแห่งได้ 700-800 บาทต่อผลัดด้วยซ้ำ

น.ส.สุวิมล กล่าว ไม่แน่ใจว่าทางคณะกรรมการค่าตอบแทนใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณาเพิ่มค่าโอที กับค่าเวรผลัดบ่าย-ดึก ไม่มีการเปิดเผยตรงนี้ ซึ่งหากสุดท้ายมีการใช้ตัวเลขนี้จริง ก็คงต้องมีการ้องเรียน เพราะที่ผ่านมาพวกเราได้สอบถามความคิดเห็นพยาบาลพบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้เพิ่มค่าโอทีอย่างต่ำ 1,000 บาท  ส่วนค่าเวรบ่าย 350 บาท และเวรเวรดึกควรอยู่ที่ 400 บาท  แต่การเพิ่ม 8% คิดเพิ่มชั่วโมงละ 6 บาทเท่านั้น

“เรื่องนี้จะมีการติดตามโดยจะทำหนังสือถึงกระทรวงฯ เพื่อขอข้อมูลว่า สุดท้ายแล้วเคาะตัวเลขดังกล่าวใช่หรือไม่ และขอให้อธิบายขั้นตอนการดำเนินงานให้ชัดเจนกว่านี้”  ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect  กล่าว  

ขณะที่นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ.กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนดำเนินงาน จากนั้นจึงจะส่งเรื่องให้ทางกรมบัญชีกลางพิจารณา ส่วนจะแล้วเสร็จพร้อมประกาศให้โรงพยาบาลต่างๆขึ้นค่าโอที ค่าเวรผลัดบ่ยดึกเมื่อไหร่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามทำให้เร็วที่สุด

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.แก้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน “หมอ-พยาบาล” เผยโรดแมปแผน 3 ระยะ)

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org