ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนนโยบายการป้องกัน-ลดอุบัติเหตุทางถนน สสส. หนุนเสริมสานพลังภาคี มุ่งสร้างนวัตกรรมยกระดับความปลอดภัยทางถนน ลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 ที่ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กรมควบคุมโรค ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) สู่ (สปถ.เขต) ทุกเขตในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศ ให้รวดเร็วทันเวลาและต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพผู้รับผิดชอบ นำไปสู่การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยมีนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร  พร้อมด้วย นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. พล.ต.ต.นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน  นายประสิทธิ์ คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

นายณรงค์ กล่าวว่า ปัญหาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนมีดังนี้ 1. ด้านปลอดภัยดี คือ การบริหารจัดการจุดเสี่ยงบนท้องถนน ปลูกฝังจิตสำนึกรณรงค์และกวดขันวินัยจราจร ส่งเสริมการสร้างระเบียบกวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด  2.ด้านเดินทางดี รถหยุด รถติด ลดหยุด ลดติด ใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการไฟจราจร ปรับปรุงเชิงกายภาพตามหลักแนวทางวิศวกรรมจราจร  3.ด้านบริหารจัดการดี คือบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ Intelligent Traffic Management System (ITMS) เพื่อบริหารจัดการจราจรทั้งโครงข่าย  นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ โดยร่วมกันกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น สมาคมประกันวินาศภัย มอบหมวกกันน็อกเด็กนักเรียน 126,117 คน  คณะกรรมการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกิจกรรม Kick off ทางม้าลายปลอดภัยวินัยดี ภายใต้แคมเปญ “หยุด ก่อนทางข้าม” เป็นต้น

นายแพทย์ปรีชา กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาคีหนึ่งในการควบคุมป้องกันโรคและการบาดเจ็บของประชาชน และเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ “รวมพลังขับเคลื่อน ศปถ.กทม. สู่ศปถ.เขต ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2565 – 2566” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้เกิดเป็นรูปธรรม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเพื่อพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศ และจัดการความรู้ สู่การใช้ประโยชน์การสร้างกระแส การติดตามกำกับอย่างรวดเร็วทันเวลาและต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพผู้รับผิดชอบงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของ ศปถ.เขตทุกแห่ง ให้สามารถดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุได้อย่างเต็มศักยภาพ

กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแนวโน้มผู้เสียชีวิตสูง จากสถิติการเสียชีวิตในปี 2562 พบว่ากรุงเทพมหานครมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นถึง 16.05 คน ต่อประชากรแสนคน และค่อยๆ ลดลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยในปี 2564 จำนวนผู้เสียชีวิต 789 ราย ลดลงจากปี 2562 ซุ่งมีผู้เสียชีวิต 893 ราย ลดลงจำนวน 104 ราย คิดเป็น 11.65% และในปี 2565 เพียง 9 เดือน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 725 ราย คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น อาจสูงถึง 900 กว่าราย พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นรถจักรยานยนต์ สูงกว่า 85% เป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดอิงเป้าหมายตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 กรุงเทพมหานคร ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงเหลือ 747 ราย หรือ 8.18 ต่อประชารกรแสนคน ในปี 2570

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส. ในฐานะองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ มีแผนการจัดการความปลอดภัยทางถนนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักสำคัญ ในทศวรรษที่ 3 ปี พ.ศ.2565-2574 มีจุดเน้นสำคัญ คือ 1. ลดพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญ เพิ่มพฤติกรรมความปลอดภัย 2.สร้างสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน มุ่งเน้นที่กลุ่มเสี่ยงหลัก คือ กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ กลุ่มเยาวชนและวัยแรงงาน เน้นพัฒนาการทำงานในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ค้นหาแนวทาง และนวัตกรรมการทำงานใหม่ๆ เพื่อลดยอดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ จึงร่วมกับ กทม. กรมควบคุมโรค ภาคีเครือข่าย ประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบทเรียนการทำงาน พัฒนางานด้านความปลอดภัยทางถนนให้มีประสิทธิภาพ

“การดำเนินงานป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน ร่วมขับเคลื่อนพัฒนากลไกการทำงาน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ระหว่างหน่วยงาน เพื่อทำให้มองเห็นภาพการทำงานที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์หาสาเหตุ นำไปวางแผนแก้ไขปัญหาและทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนได้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว