ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.การแรงงานฯ ร่วมสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน และ Nurses Connect  ติดตามการแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์  ด้าน สธ. เผยมีรพ.ที่แพทย์ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 65 แห่ง จาก 117 แห่งที่เป็นสถาบันฝึกเพิ่มพูนทักษะ พร้อมระบุโรดแมปกำหนด รพ.ไหนมีชั่วโมงการทำงานหมอมากกว่า 64 ชม./สัปดาห์ให้เร่งแก้ไขภายใน 3 เดือน ล่าสุดสมาพันธ์ฯ เตรียมประสานชมรมอื่นๆ ร่วมกันเรียกร้องสิทธิคนทำงานสาธารณสุข

 

จากกรณีคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร(กมธ.การแรงงานฯ) พร้อมด้วยสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน   เข้าหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อขอความเป็นธรรมชั่วโมงการทำงานของแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรก หรือแพทย์อินเทิร์นปี 1 ที่มีภาระงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควงเวรติดต่อกันไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า และส่วนหนึ่งลาออกจากระบบราชการ  โดยที่ผ่านมา ผู้บริหารสธ.มีแผนแก้ปัญหา และทางกมธ.การแรงงานฯ ระบุว่าจะขอติดตามในอีก 3 เดือนนั้น

เมื่อวันที่ 17 มกราคม  พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน  กล่าวว่า  ทางคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาฯ และทางสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งเครือข่ายพยาบาล Nurses Connect ได้ทำหนังสือประสานเข้าพบผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อติดตามแนวทางการแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ ซึ่งในวันนี้(17 ม.ค.) ไม่ได้หารือร่วมกับ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ.เหมือนครั้งก่อน ทราบว่าติดประชุม รวมถึงผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นๆก็ติดภารกิจเช่นกัน  ดังนั้น การหารือครั้งนี้ จึงเน้นในเรื่องแจ้งแผนการแก้ไขปัญหา โดยกำหนดเป็นแนวทางว่า  โรงพยาบาลที่มีบุคลากร แพทย์ ที่ทำงานนอกเวลาราชการเกินเวลา 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวนเท่าไหร่ และโรดแมปแก้ไขจะให้ทำงานไม่เกินเท่าไหร่ เป็นต้น

“วันนี้เป็นการแจ้งแผนการแก้ไขปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ  อย่างข้อมูล รพ.ที่แพทย์ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 65 แห่ง หรือ 55.56% ซึ่งมาจาก 117 แห่งที่เป็นสถาบันฝึกเพิ่มพูนทักษะ โดยสธ.กำหนดเป็นโรดแมปว่า หากแพทย์ทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ จะต้องแก้ไขให้ได้ภายใน 3 เดือน ส่วนมากกว่า 59-63 ชั่วโมง/สัปดาห์ต้องแก้ไขให้ได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งก็จะลดหลั่นกันไป” พญ.ชุตินาถ กล่าว

พญ.ชุตินาถ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจว่า มีรพ.กี่แห่งทำงานนอกเวลาราชการเกินเวลานั้น พบว่า ได้สำรวจแพทย์ใช้ทุนปี 1 เป็นผู้ให้ข้อคิดเห็น แต่อินเทิร์นหลายแห่งที่มีปัญหา อย่าง แม่สอด ที่แพทย์ใช้ทุนทำงานเกิน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ไม่ได้ถูกสำรวจ คือ อินเทิร์นประมาณ 2,000 คน ได้ทำแบบสำรวจประมาณ 1,000 คน อย่างไรก็ตาม แบบสำรวจนี้ก็ยังรู้สึกดีตรงมีแนวทางออกมาชัดเจน แต่คำถามต่อไปคือ การมีโรดแมปออกมา แต่แนวทางดำเนินการ อย่างเมื่อลดชั่วโมงคนทำงาน ก็ต้องลดเวลา แล้วจะมีการบริหารจัดการทรัพยากรตรงนี้อย่างไร ซึ่งที่ประชุมหารือครั้งนี้ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

พญ.ชุตินาถ กล่าวอีกว่า หากเป็นแพทย์ใช้ทุน คนที่เวรยุ่งมาก เช่น หากอยู่เวรกลางคืน ตอนเช้าไม่ต้องควงต่อ ให้ทำหลังเที่ยงได้ โดยให้พักตั้งแต่ 08.00 -12.00 น. แต่ก็ยังมีคำถามว่า เกณฑ์ดังกล่าวจะให้ใครเป็นผู้ตัดสิน ต้องอยู่ในดุลยพินิจหรือไม่ ผู้บังคับบัญชาคนไหนจะอนุญาต อีกทั้ง อินเทิร์นไปพักจะมีใครมาแทน ตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการหรือไม่  ทั้งนี้ จากการพูดคุยเห็นว่าจะตั้งแพทย์ใช้ทุนปีแรกก่อน เพราะมีปัญหาลาออกมาก และเป็นกลุ่มที่ทำงานหนักมาก อย่างหลาย รพ.แพทย์เฉพาะทางน้อย ก็ต้องใช้แพทย์ใช้ทุนปี 1 อย่างไรก็ตาม  จะต้องมีการติดตามผลการดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงฯ เพราะจากที่หารือเหมือนให้ รพ.ไหนพร้อมให้ดำเนินการได้เลย

เมื่อสอบถามถึงค่าตอบแทนบุคลากร ค่าตอบแทนแพทย์มีความคืบหน้าหรือไม่ พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า มีการถามว่าที่ระบุว่าจะเพิ่ม 8% เพราะอะไร เนื่องจากไม่สอดคล้องค่าครองชีพ แต่ได้รับคำตอบว่า มาจากคำนวณรายได้เงิน รพ.ทั่วประเทศ ซึ่งตัวเลขนี้เพียงพอที่รพ.จะจ่ายได้  แต่เป็นตัวเลขที่ไม่สอดคล้องค่าครองชีพ  

“สรุปคือการหารือวันนี้เป็นการบอกรายละเอียดของโรดแมป ส่วนแนวทางแก้ปัญหายังไม่ชัดเจน ก็ต้องมีการติดต่ออย่างต่อเนื่องอีกครั้ง” พญ.ชุตินาถ กล่าว และว่า ขณะนี้ทางกลุ่มจะพยายามติดต่อกับคนทำงานสายอื่นๆ เช่น สหภาพลูกจ้างของรัฐฯ ชมรมวิชาชีพอื่นๆ เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิของผู้ปฏิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกันต่อไป

แฟ้มภาพ

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :  สธ.แก้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน “หมอ-พยาบาล” เผยโรดแมปแผน 3 ระยะ เบื้องต้นมอบผู้ตรวจราชการฯดำเนินการ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org