ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับเอไอเอส ต่อยอดความร่วมมือบริหารจัดการข้อมูลประชาชนกลุ่มเสี่ยงปัญหาด้านสุขภาพจิต สนับสนุนภารกิจบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ โดย อสม. ลงพื้นที่เฝ้าระวัง ตรวจคัดกรอง ค้นหา ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน ผ่าน"แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์" และให้คำแนะนำการปฏิบัติตนสำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวล ซึมเศร้าได้ทันท่วงที ชี้! ช่วยลดขั้นตอน ลดการใช้เอกสาร และสามารถส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

 

วันที่ 10 มีนาคม 2566 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปัจจุบันมองเห็นได้ชัดว่า เรื่องของปัญหาสุขภาพจิตมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของปริมาณ ความรุนแรง รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้น แม้แต่ประชาชนที่ยังไม่ได้เป็นผู้ป่วย ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกช่วงวัย ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น อาจมีความเสี่ยงปัญหาในเรื่องสุขภาพจิตตามมา ทั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่กรมสุขภาพจิตและเอเอสได้จับมือร่วมกัน ช่วยดูแลสุขภาพจิตของประชาชนคนไทย โดยเราได้อาศัยสิ่งที่มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ที่ถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งคืออยู่ในรูปแบบแอพพลิเคชั่น 

ซึ่ง แอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพจิต ผ่านกลไกระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ อสม.นำแอปพลิเคชั่นนี้ไปใช้คัดกรอง ค้นหา ผู้ที่มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตและสามารถให้การช่วยเหลือดูแล พร้อมทั้งส่งต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าสู่ระบบบริการ โดยกรมสุขภาพจิตจะมีส่วนช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตที่จำเป็นต่อการดูแลจิตใจประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดกลไกการให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช  ที่มีมาตรฐาน รองรับผู้ที่มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตจากการคัดกรองสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์”

ในนามของกรมสุขภาพจิตขอขอบคุณบริษัท AIS และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ทำให้เกิดการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนในชุมชน ด้วยแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากความร่วมมือกันในครั้งนี้จะต่อยอดให้ประชาชนคนไทยได้รับการดูแลสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องต่อไป

ด้านนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า “จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกว่า 3 ปีนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเฉพาะปัญหาของการระบาด การเจ็บป่วยจากการติดเชื้อเท่านั้น แต่ในอีกด้านยังมีผลกระทบที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อการก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตไม่มากก็น้อย โดยมีความเครียดระดับปานกลาง ประมาณ ร้อยละ 10 ของกลุ่มตัวอย่างที่ อสม.สำรวจ ซึ่งควรรับคำปรึกษา หาทางผ่อนคลายความเครียด ดังนั้น เอไอเอส จึงร่วมกับ   กรมสุขภาพจิต พัฒนารายงานสำรวจสุขภาพจิตบนแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” เพื่อทำให้รู้ว่าประชาชนมีภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตอย่างไรบ้าง พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตัวได้ทันทีจาก อสม.

ดังนั้นวันนี้  ถือได้ว่าเป็นการสานต่อความร่วมมือของ เอไอเอส และ กรมสุขภาพจิตต่อเนื่องเป็นปีที่ 3   หลังจากที่ในปลายปี 2563 เราได้มีการพัฒนาและบรรจุเครื่องมือรายงานคัดกรองความเสี่ยงสุขภาพจิตในแอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์” โดยในปีนี้ เราได้พัฒนาเพิ่มเติมให้ระบบของแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการติดตามความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตรายบุคคล พร้อมทั้งสามารถทำการบันทึกการติดตามดูแลผู้ที่มีภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพจิตด้วยวิธีการต่างๆตามหลักการดูแลด้านสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสม โดยร่วมกับ อสม.ในพื้นที่ อันจะทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างครบวงจร ทั้งการคัดกรอง ติดตาม และให้การดูแลแบบเฉพาะบุคคล อย่างทันท่วงที”

สำหรับ แอปพลิเคชัน “อสม.ออนไลน์”นั้น เอไอเอสได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการกับการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกด้านรวมถึงปัญหาสุขภาพจิต เพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ มีเครื่องมือในการคัดกรองและดูแลประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งลดขั้นตอน ลดความยุ่งยากจากการใช้เอกสารจำนวนมากในอดีต พร้อมทั้งสามารถรายงาน ส่งต่อข้อมูลได้ทันที   ซึ่งในปัจจุบันได้มีการขยายเพิ่มให้ อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. หรือ อสส. ได้ใช้งานแอปพลิเคชันนี้ด้วยในชื่อ “อสส.ออนไลน์”  ทำให้ในปัจจุบันมีผู้ใช้งานรวมกว่า 5 แสนราย