ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ลุกจากที่นอนเร็ว ไม่เสี่ยงหัวใจหยุดเต้น โรคอัมพฤกษ์ 

การดูแลสุขภาพผู้สูงวัยให้ห่างไกล โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้สูงอายุออกกำลังกายแค่ไหนถึงพอดี

จากกรณีมีข้อความโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า มีคนจำนวนมาก กลางวันไม่เป็นไร แต่พอกลางคืนกลับเสียชีวิต เนื่องจากกลางคืนลุกจากที่นอนไปเข้าห้องน้ำเร็วเกินไป การลุกจากที่นอนกระทันหัน ทำให้ขาเดลือดไปเลี้ยงสมอง ความดันโลหิตต่ำ จนวิงเวียนล้มลงไป บางคนถึงกับกระดูกกะโหลกศีรษะแตก บางคนหัวใจมีปัญหา กลางวันเต้นปกติ แต่กลางคืนกลับขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจหดตัว ความดันโลหิตลดต่ำ ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง หัวใจก็หยุดเต้นได้ ถึงแม้จะไม่เสียชีวิตก็กลายเป็น โรคอัมพฤกษ์ 

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตรวจสอบกับสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะร่างกายมีกลไกปรับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ทั้งความดันโลหิต รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้ร่างกายทำกิจกรรมได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวร่างกายรวดเร็ว หรือเปลี่ยนท่าเร็วตอนลุกจากที่นอนกะทันหัน แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็จะมีโรคประจำตัวบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ได้แก่

  • โรคเบาหวาน 
  • โรคความเสื่อมของสมองบางชนิด
  • สภาพร่างกายที่อ่อนเพลีย 
  • การรับประทานยาที่มีผลต่อความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ ในบางชนิด 

การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็วของผู้สูงวัยหรือผู้สูงอายุ จึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ อาจเกิดอาการหน้ามืด ตาลาย วิงเวียนศีรษะได้ เวลาที่ร่างกายเคลื่อนไหวเร็วเกินไป แต่อาการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลรุนแรงถึงกับทำให้หัวใจหยุดเต้น 

"ลุกจากที่นอนเร็ว ไม่เสี่ยงหัวใจหยุดเต้น โรคอัมพฤกษ์ "

โรคหลอดเลือดสมอง ผู้สูงอายุเสี่ยง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 

แม้ว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ STROKE จะเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่ในผู้สูงอายุจะเสี่ยงได้มากเป็นพิเศษ กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า เกิดขึ้นได้จากอายุมากขึ้น หลอดเลือดจะเสื่อมสภาพ อาจมีไขมัน หินปูน มาเกาะที่ผนังหลอดเลือดจนแคบลง เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง กลายเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้

วิธีสังเกตอาการ โรคหลอดเลือดสมอง ผู้สูงอายุ

  1. แขน ขา ชาหรืออ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง 
  2. สับสน พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง 
  3. การมองเห็นลดลงหรือเห็นภาพซ้อน 
  4. เดินเซ 
  5. มึนงง ปวดศีรษะรุนแรง 

หากผู้สูงอายุที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองมาภายใน 4 ชั่วโมง การรักษาจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถรักษาชีวิต ฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ผลดี ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะกลายเป็น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างเต็มที่ ต้องรักษาหรือฟื้นฟูให้ร่างกายมีสภาพที่ดีขึ้น ด้วยการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและผู้ดูแล

ป้องกันก่อนเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต 

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างเพียงพอในปริมาณที่เหมาะสม
  2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง 
  3. ออกกำลังกาย 
  4. ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมน้ำตาล ควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  5. งดสูบบุหรี่ 
  6. งดการดื่มสุรา 
  7. ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

"ป้องกันก่อนเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต "

ออกกำลังกายลดโรคร้ายในสูงวัย

กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบาง มักจะเจ็บป่วยและเกิดโรคได้ง่ายกว่าช่วงวัยอื่น ๆ ผู้สูงอายุจึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามความพร้อมของร่างกาย โดยมี 5 ข้อควรระวังที่กรมอนามัย แนะนำดังนี้

  1. Warm up ก่อนออกกำลังกาย ในช่วงอบอุ่นร่างกายให้เคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ 5-10 นาที เช่น การเดิน ย่ำเท้าอยู่กับที่ แล้วยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
  2. ออกกำลังกายให้เริ่มจากเบาก่อน และให้ออกกำลังกาย 15-20 นาที ประกอบด้วย การทรงตัว การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเสริมสร้างของหัวใจและปอดให้แข็งแรง เช่น การเดิน เต้นรำ ฟ้อนรำ วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน เต้นบาสโลบ รำไทเก็ก และรำไม้พลอง 
  3. Cool down หลังออกกำลังกาย ช่วงคลายอุ่นร่างกาย 5-10 นาที ให้เคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ เช่น การเดิน หรือย่ำเท้าอยู่กับที่ และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
  4. ไม่กลั้นหายใจขณะออกแรง
  5. เลี่ยงการออกกำลังกายที่แข่งขันหรือกดดัน 

ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้สูงวัย

  • ช่วยต้านทานโรค หากออกกำลังกายอย่างถูกวิธี ทำอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะแข็งแรง ช่วยให้ระบบการทำงานภายในร่างกายปกติ
  • ชะลอการเสื่อมของอวัยวะ ช่วยให้ระบบการทำงานร่างกายแข็งแรง ทำงานเป็นปกติ เพราะอายุที่มากขึ้น ระบบการทำงานจะอ่อนแอลง 
  • ช่วยในการทรงตัวและมีรูปร่างดีขึ้น ผู้สูงวัยกระดูกบางลง มวลกล้ามเนื้อลดลง ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้การทรงตัว การเดิน การเคลื่อนไหว ไม่คล่องตัวเท่าตอนหนุ่มสาว ยิ่งผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปก็จะมีผล อีกทั้งเกิดการเจ็บปวดตามข้อต่อร่างกาย จึงจำเป็นต้องออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ฝึกฝนกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทรงตัว
  • ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น เมื่อไม่มีโรค ไร้อาการเจ็บปวด จะช่วยลดความกังวลด้านสุขภาพ
  • ช่วยให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ เพราะมีร่างกายที่แข็งแรง

ไม่ใช่แค่ผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ทุกเพศทุกวัยควรดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อป้องกัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่อาจเกิดขึ้นได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : โรคหลอดเลือดสมอง ‘รู้เร็ว รักษาทัน’ ห่างไกล โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org