ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ. แจงเหตุปรับโฉมฉากทัศน์อนาคตกระทรวงสาะรณสุขระยะ 3 ปี เหตุสภาพสังคม เศรษฐกิจเปลี่ยน คนอยู่เมืองมากขึ้น ผู้สูงอายุมาก เด็กเกิดน้อย รพ.ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมสั่ง นพ.สสจ. คิดแผนรายจังหวัด พบหลายแห่งหมอเยอะ แต่บริการรักษายังตัน ให้เพิ่มศักยภาพ ช่วยลดภาระค่าตอบแทน หมุนเวียนหมอช่วย ทั้งกระจายบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน

 

สธ.ปรับฉากทัศน์กระทรวงฯในอนาคต ระยะเวลา 3 ปี (2567-2569)

เมื่อเร็วๆนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการทบทวนฉากทัศน์ภาพอนาคตชอง กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในระยะ 3 ปี ว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมผู้บริหารและบุคลากรเพื่อแลกเปลี่ยนและร่วมกันทำข้อเสนอภาพอนาคตของ สธ.ในระยะ 3 ปี คือ ปี 2567-2569 โดยสาเหตุที่ต้องทบทวนฉากทัศน์ เนื่องจากระบบสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในอดีตเมื่อ 30-40 ปี กับปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและแตกต่างกันเยอะ อย่างสมัยก่อนคนส่วนใหญ่อยู่ในชนบท สถานพยาบาลต่างๆ ทั้งส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและรักษาพยาบาลเข้าไม่ค่อยถึง เราก็เร่งให้ความครอบคลุมพี่น้องประชาชนเข้าถึง ทั้งสถานีอนามัยต่อมาเรียกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ส่งบุคลากรไปครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ปัจจุบันเราพบว่าหน่วยงานของ สธ.ครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และทุกตำบล ยังมี อสม.ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน พื้นฐานต่างๆ ถือว่าดีขึ้นแล้ว

 

"ตอนนี้คนไทยจากเดิมที่เราเป็นประเทศยากจน เรามาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางระดับสูง สิ่งที่ต้องกลับมาคิดใหม่ก็ต้องแตกต่างจากเมื่อก่อน เมื่อก่อนอยู่ในชนบทห่างไกล ลูกเยอะ รายได้น้อย ยุคนี้กลายเป็นคนส่วนใหญ่อยู่ในเมือง ผู้สูงอายุเยอะ ลูกน้อย ก็ต้องปรับฉากทัศน์ใหม่ คิดแบบเก่าไม่ได้ รวมถึงสภาพทั่วโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็ต้องมานั่งคิดกันหมด" นพ.โอภาสกล่าว

 

ปลัดสธ.มอบนพ.สสจ.คิดแผนปรับรูปแบบจังหวัดเดียวกัน รพ.ถือเป็นรพ.เดียวกัน 

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ขณะที่เรื่องบุคลากรเรามองว่าขณะนี้ก็ไม่ได้ขาดแคลนเหมือนสมัยก่อน จากการไปเยี่ยม รพ.ชุมชนบางแห่งมีแพทย์ 20 กว่าคน แต่บริการยังเหมือนเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว แบบนี้คงไม่ถูก เราต้องมองว่าบุคลากรเป็นทรัพยากรสำคัญ และตอนนี้เรามีงบประมาณพอสมควร ต้องตอบโจทย์ใหม่ คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับประสิทธิภาพบริการที่ดีขึ้น ใกล้บ้าน อย่าไปคิดว่าจะต้องมาส่งต่อตามขั้นตอน ให้กลับไปคิดแผนใหม่ ก็ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) คิดแผนเป็นรายจังหวัด โดยยึดนโยบายว่าจังหวัดเดียวกัน รพ.ถือเป็น รพ.เดียวกัน (One Province One Hospital) ต่อมาคือบุคลากรที่เพิ่มขึ้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเรามีทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่จะให้บริการประชาชนเพิ่มขึ้นได้ แต่หมายความว่า รพ.ก็ต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในเรื่องของค่าตอบแทน ซึ่งเงินบำรุงส่วนใหญ่เวลาหาได้ 50% ก็จะกระจายเป็นค่าตอบแทน ดังนั้น รพ.ก็ต้องหาค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น มิเช่นนั้นบุคลากรที่มีเยอะพอสมควรหากไม่ได้บริหารจัดการให้เกิดประโยน์ ก็จะกลายเป็นภาระที่เสียงบประมาณ จึงให้จังหวัดไปทบทวนดู

 

"แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นทุกที่ แต่หลายที่บุคลากรมีเยอะ แต่บริการยังเท่าเดิม เนื่องจากติดกรอบว่า รพ.ชุมชนทำได้แค่นี้ รพ.จังหวัดทำได้แค่นี้ ซึ่งไม่ใช่ความผิด เพราะเดิมเราวางกรอบแบบนี้ เราจึงเปลี่ยนใหม่ กรอบคือศักยภาพมีเท่าไรให้เพิ่มขึ้นไปเท่านั้น อย่าไปยึดกรอบประชาชนในพื้นที่มีเท่านี้ ก็จะเป็น รพ.ชุมชนขนาดเท่านี้ เป็น F1 F2 F3 ต่อไปถ้ามีศักยภาพทำอะไรก็ทำขึ้นไปเลย เพราะมีทั้งคนทั้งเงินแล้ว ให้ประชาชนเข้าถึงบริการง่ายขึ้นเร็วขึ้นที่สุด ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ เรื่องการฟอกไต เมื่อก่อนบอกว่าต้องไปที่ รพ.จังหวัด แต่ปรากฏว่าประชาชนเข้าไม่ถึงบริการ ต้องมาฟอกไตทุกวันที่ รพ.จังหวัดก็เปลืองค่าเดินทาง ค่าอยู่ค่ากิน ถ้ามีฟอกไตไปที่ รพ.ชุมชนซึ่งแพทย์ดูได้ เพราะมีอายุรแพทย์ถึง รพ.ชุมชนเยอะแล้ว ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการก็ให้แต่ละคนลองไปทบทวนดูว่ากรอบที่จะพัฒนาขึ้นว่าเป็นอะไรให้ยึดเป้าหมายก่อนที่จะยึดผลงาน" นพ.โอภาสกล่าว

ปรับรูปแบบกระจายบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน

ถามว่าหลายพื้นที่ที่มีบุคลากรเยอะ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับรูปแบบการกระจายให้เหมาะสม นพ.โอภาสกล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นกับหลายมิติ มิติการกระจายให้เหมาะสมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างตัวอยู่ รพ.นี้ แต่งานไม่ได้เยอะมากนัก อาจไปช่วย รพ.นี้ในการตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) หรือช่วย รพ.นี้ทำคลินิกฟอกไต ก็เป็นไปได้ ให้ นพ.สสจ.ดูภาพรวมทั้งหมด ถือว่าจังหวัดหนึ่งเป็น รพ.ของทุกแห่ง อย่าคิดว่าอยู่ รพ.นี้ ไม่ไปช่วย รพ.นี้ นพ.สสจ.ต้องคิดใหม่ สมมติ รพ.นี้มีแพทย์เยอะ เอาไปช่วย รพ.นี้ แต่ตัวยังอยู่ รพ.นี้ไปช่วยตรวจ OPD ช่วยฟอกไต ช่วยผ่าตัด หรือ รพ.นี้มีผ่าตัด รพ.นี้อาจจะดูแลผู้สูงอายุ ก็ให้หมุนกันทั้งจังหวัด ซึ่งเรื่องนี้เราให้วางแผนและเริ่มได้เลย

 

ถามว่าการทบทวนจัดบริการต้องดูยึดตามปัญหาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ด้วยหรือไม่  นพ.โอภาสกล่าวว่า ก็ดูข้อมูลของตัวเองด้วย แต่ส่วนใหญ่การเกิดโรคต่างๆ ก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก แต่บางที่มีห้องผ่าตัดไม่มีหมอ บางที่มีหมอไม่มีห้องผ่าตัดก็ต้องเอามาแมตช์กัน หาจุดเด่นของแต่ละ รพ.มาผสานกัน โดยต้องดูในแง่ของพื้นที่ แง่ของการเดินทางประชาชน สมมติต้องไปผ่าตัด รพ.นี้ในอีกอำเภอนี้ รพ.ก็มีหน้าที่ส่งคนไข้ไป ญาติก็ต้องดูแลเรื่องอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด เช่น สร้างบ้านพักเรือนพักของญาติให้ไปใช้บริการได้โดยมีราคาที่เหมาะสมสำหรับจัดบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น ส่วนเรื่องของงบประมาณในเรื่องการส่งต่อแบบไร้รอยต่อ บางส่วนไม่ต้องใช้งบประมาณ บางส่วนมีจิตอาสา แต่ทั้งหมดคือโจทย์ใหญ่ให้ นพ.สสจ.ไปดูในภาพรวม

ปรับโฉมฉากทัศน์กับประเด็นถ่ายโอนรพ.สต.

ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะติดขัดกับการดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ถ่ายโอนก็เป็นเรื่องใหม่ ก็ให้โจทย์ไปคิด ถ่ายโอนมีทั้งที่ถ่ายโอนแล้วและยังไม่ถ่ายโอน ถ้าถ่ายโอนแล้วรอยต่อตรงนี้จะทำอย่างไรให้ไร้รอยต่อ เรื่องถ่ายโอนก็ต้องมีทั้งคนรับโอน ถ่ายโอน และประชาชน แต่คนที่รับทราบน้อยที่สุดคือประชาชน

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ.จ่อปรับระดับ รพ.ในสังกัดใหม่ เป็น SAP เน้นมาตรฐานกลางต้องมีทุกแห่ง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง