ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการเผย 8 ความจริง! บุหรี่ไฟฟ้า พบนิโคตินรูปแบบใหม่ ทำติดง่าย เลิกยาก งานวิจัยชี้ส่งผลพัฒนาทางสมองของวัยรุ่น  ขณะที่ผลตรวจปัสสาวะคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีไซยาไนด์ หนำซ้ำคนไม่สูบรับผลกระทบสารอื่นๆ เช่น ฝุ่นพิษ PM2.5   ด้านกรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยเผยปี 60 ไทยเคยเสียค่าโง่ปล่อยบุหรี่ลดราคา ครั้งนี้อย่าโง่ซ้ำอีกให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย

 

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น  สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ “ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรถูกกฎหมาย”   โดย รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า ก็คือบุหรี่ทั่วไป และมีความอันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไป เป็นอันเดียวกัน แต่บริษัทบุหรี่เปลี่ยนให้ดูทันสมัยมากขึ้น ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีสารอันตราย มีสารก่อมะเร็ง มีสารเคมี มีโลหะหนักจำนวนมาก อีกทั้ง พบตัวอย่างผู้ป่วยจำนวนมากในต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ก็พบว่าได้รับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าในเวลาสั้นๆ โดยไปทำลายปอด

"รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช"

ความจริง 8 ข้อ ผลกระทบ "บุหรี่ไฟฟ้า"

 

รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าจึงยังไม่ควรถูกกฎหมาย เพราะมีข้อมูลเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ  โดย 1.อันตรายต่อผู้สูบเอง 2.อันตรายต่อสุขภาพของคนรอบข้าง และ3.ทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเสพติดนิโคตินเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นการปรับโฉมใหม่เพื่อให้คนอยากลองมากขึ้น คนขายก็กลุ่มบุหรี่เดียวกัน ทั้งนี้ ผลกระทบต่อสุขภาพหลักๆ 8 ข้อ คือ

1.นิโคตินเป็นสารเสพติด

นิโคติน ติดง่าย เลิกยาก  ส่วนที่มีการเปรียบเทียบว่า นิโคตินกับสารอื่นๆ อย่างคาเฟอีน ก็ไม่แตกต่าง แต่จริงๆ นิโคตินมีฤทธิ์เสพติดสูงกว่าคาเฟอีนหลายร้อยหลายพันเท่า และขึ้นสู่สมองเร็วมากในเวลาไม่เกิน 7 นาที ทำให้ติดง่าย เลิกยาก

 

“นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า มีสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา  บางยี่ห้อในบุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง มีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา 50 มวน อันตรายน้อยกว่าจึงไม่ใช่เรื่องจริง และหากอายุไม่ถึง 25 ปี สมองยังเติบโตพัฒนาได้ แต่หากมีสารพิษ สารเสพติดเข้าไปก็จะหยุดการเจริญเติบโต โดยนิโคตินจะไปทำลายกลไกตรงนี้ อีกทั้ง 7 ใน 10 คนจะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว

 

2.บุหรี่ฟ้ายังมีสารเคมีอันตรายจำนวนมาก

ไม่ใช่แค่ไอน้ำธรรมดา แต่จะเป็นไอสเปรย์ที่เป็นสารเคมี โลหะหนัก รวมไปถึงPM2.5 หรือขนาดเล็กกว่านั้นก็จะอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทบอกว่าสารเคมีบางชนิดผสมอาหารได้ แต่จริงๆ ที่กินได้ แต่เอามาสูดดมไม่ใช่ว่าปลอดภัย อย่างสารทำป๊อปคอร์น ทำรสเนย กินได้ แต่เมื่อเอามาสูดเข้าปอด ทำให้ปอดอักเสบรุนแรงได้ เป็นมากๆ เสียชีวิตได้  สารเติมแต่งบางชนิดทานได้ แต่เมื่อนำมาสูดดม ยังไม่มีการรับรองว่าปลอดภัย

 

3.มีผลต่อปอดระยะสั้น รุนแรงกว่า

พบปัญหาโรคปอดอักเสบเฉียบพลันและไม่เคยสูบบุหรี่ธรรม และมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีตัวอย่างในต่างประเทศ ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้าเช่นกัน

 

4.ผลระยะยาวยังไม่ทราบ แต่เมื่อผลกระทบระยะสั้นมีแน่

ผลระยะสั้นของการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นยิ่งกว่าบุหรี่ธรรมดา ดังนั้น ผลระยะยาวจะน้อยกว่าผลระยะสั้นย่อมยาก จริงๆมีผลวิจัยผลกระทบต่อบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่สมองลงมา ทำลายปอดและหัวใจ เป็นต้น  อีกทั้ง ยังมีงานวิจัยว่า บุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงทำให้เกิดโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพองขึ้น 2 เท่า และยังเสี่ยงทำลายเซลล์หลอดเลือดแดง และตัวน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้ายังเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงเสียชีวิต นิโคตินยังทำลายสมองวัยรุ่นที่ยังโตไม่เต็มที่ด้วย นอกจากนี้ ทดลองในหนูโดยได้รับไอของบุหรี่ไฟฟ้า 1 ปี พบ 1 ใน 4 ของหนูทดลองเป็นมะเร็งปอด ส่วนคนก็ต้องติดตามระยะยาวต่อไป  

 

“ล่าสุดมีการศึกษาด้วยการนำปัสสาวะของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปตรวจ กลับพบสารไซยาไนด์ มากกว่าคนไม่สูบ และหลายคนคิดว่า คนไม่สูบอยู่ใกล้ๆคงไม่เป็นไร แต่จริงๆ การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังสร้างฝุ่นพิษ PM2.5 สูงกว่าค่าปกติถึง 45 เท่า ดังนั้น คนรอบข้างย่อมได้รับผลกระทบ  ซึ่งคนไม่ได้สูบแต่ได้รับควันจะเสี่ยงหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น 3 เท่า”

5.สารพิษต่างจากบุหรี่ธรรมดา

โดยบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษบางอย่างที่ไม่เคยพบมากก่อนในบุหรี่มวน ดังนั้น การจะมาบอกว่าอันตรายน้อยกว่า จึงบอกยาก เพราะสารพิษคนละตัว ทั้งนี้ มีนักวิจัยจากจอห์นฮอปกินส์พบว่า มีสารเคมีเกือบ 2 พันชนิดในบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่รู้จักและไม่มีในบุหรี่มวนมาก่อน

 

6.บุหรี่ไฟฟ้าทำการตลาดพุ่งไปที่วัยรุ่น เด็กและเยาวชน

ตามคอนเซปต์บริษัทบุหรี่ มีข้อความในเอกสารลับว่า ฐานลูกค้าอยู่ที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะถ้าติด ก็จะเป็นลูกค้าระยะยาว ดังนั้น การบอกว่าจะทำให้ผู้ใหญ่เลิกบุหรี่ จึงไม่ใช่ เพราะรสชาติต่างๆ ไปทางกลุ่มเด็กและเยาวชนหมด

 

“ยิ่งสูบยิ่งติด เพราะบุหรี่ไฟฟ้าใช้นิโคตินแบบใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างนิโคตินเดิมให้สูบง่ายขึ้น ไม่ให้ระคายเคืองคอ สูบง่าย ทำให้ติดง่าย นี่เป็นกลยุทธ์เพื่อให้วัยรุ่นติด โดยเรามีข้อมูลวิชาการในไทยพบว่า เด็กไทยที่เริ่มด้วยการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่ม 5 เท่า เพราะหลายคนบอกว่าสูบแล้วไม่ถึง ซึ่งขั้นสุดต้องไปบุหรี่มวน”รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว

 

7.บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่  

หากช่วยได้จริงก็ต้องเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย เพราะมีสารนิโคตินเหมือนกัน  และองค์การอนามัยโลกก็ยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ อีกทั้ง มีงานวิจัยรีวิวทั่วโลก 44 ชิ้น สรุปบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่กรณีใช้เอง

 

8.บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมายในประเทศไทย

 

ด้าน รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีนโยบายการเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเป็นรายได้ของประเทศ ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจในระดับระหว่างประเทศ ทั้งธนาคารโลก หรือแม้แต่องค์การอนามัยโลกได้มีการศึกษาไว้ถึงผลได้ผลเสียของยาสูบ ซึ่งข้อมูลชัดเจนว่า ผลได้น้อยกว่าผลเสีย ไม่ว่าจะเก็บภาษีมากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อเกิดโรคภัยก็จะเป็นภาระค่ารักษาพยาบาล ทั้งตัวเอง ครอบครัว และประเทศ แทนที่จะนำงบประมาณไปใช้อย่างอื่นก็ต้องนำมารักษาคนป่วยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ ทั้งที่เป็นกลุ่มโรคที่ป้องกันได้  อีกทั้ง ภาษีที่ได้ก็ไม่ใช่ภาษีที่ยั่งยืน เพราะต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งมาใช้รักษาพยาบาลด้วย จึงไม่คุ้มค่า พูดได้ว่า การเก็บภาษีได้เท่าไร ผลได้ย่อมไม่คุ้มเสีย

 

“การบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าถ้าถูกกฎหมายจะแก้ปัญหาการลักลอบจำหน่าย  แต่ความจริงทุกวันนี้บุหรี่มวนเป็นสินค้าถูกกฎหมาย แต่ก็ยังมีการลักลอบหนีภาษีอยู่บ่อย” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว และว่า กรณีประเทศที่ไม่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำให้เก็บภาษี เพื่อให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงยากขึ้น แต่ประเทศที่ห้ามจำหน่าย ทางองค์การอนามัยโลกจึงไม่ได้เสนอให้เก็บภาษี  ซึ่งประเทศไทยในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมาย  จริงๆ ประเทศที่ปล่อยให้ซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้า ผลที่เกิดขึ้น เยาวชนสูบเพิ่มขึ้น ขณะนี้หลายๆเมืองในสหรัฐเริ่มห้ามซื้อขายแล้ว อย่างซานฟรานซิสโก เป็นต้น

 

"รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม"

 ด้าน รศ.ดร.สุชาดา กล่าวว่า หลายคนไปฟังข้อมูลฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า อย่างนักการเมืองบางคน รัฐมนตรีบางคนพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย แต่ไม่ฟังข้อมูลวิชาการ  และประสบการณ์ในหลายประเทศ อย่างกฎหมายควบคุมยาสูบโลก ทาง WHO ก็ชี้แนะให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการเพื่อให้การควบคุมยาสูบปลอดจากผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ  ทั้งนี้ ลองพิจารณาบริษัทยาสูบข้ามชาติมีรายได้ปี 2022 รายรับสุทธิ 1.1 ล้านล้านบาท ถ้าเทียบกับงบประมาณรายจ่ายของไทยในปีเดียวกันอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ประมาณการรายรับ 2.4 ล้านล้านบาท แสดงว่าบริษัทบุหรี่มีทรัพยากรมโหฬาร

“WHO ชี้ให้เห็นเล่ห์เหลี่ยม กลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบข้ามชาติในการพยายามเข้าถึงบุคคลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย ซึ่งเมื่อปี 2560 ประเทศไทยเสียค่าโง่ให้บุหรี่ลดราคามาแล้ว จึงไม่ควรโง่อีก ที่จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว

 

 

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย ตามกฎหมายควบคุม 4 ฉบับ คือ 1.ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท 4.พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมายตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ที่ผ่านมายังมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนมาตลอด จึงอยากขอความร่วมมือให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง

“สังคมไทยมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ากับกัญชา ต้องยอมรับว่ากัญชานับเป็นพืชที่สามารถให้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และการใช้งานกัญชาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์คือ ต้องไม่มีการเอาไปใช้ประโยชน์อย่างเสรีของบุคคลทั่วไป แต่บุหรี่ไฟฟ้ากลับยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ในมิติต่าง ๆ ได้เลย โดยเฉพาะประเด็นการช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดมีการยื่นขออนุญาตและขึ้นทะเบียนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกสูบบุหรี่ ตามที่มีการกล่าวอ้าง จึงขอเน้นย้ำประชาชนทุกคนว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่มวน การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในอนาคตได้” นายไพศาล กล่าว

 

"นายไพศาล ลิ้มสถิตย์"