ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์ ลงนามไจก้า ญี่ปุ่น ทำโครงการ 3 ปีถอดรหัสพันธุกรรมในมนุษย์ ตรวจหาเชื้อวัณโรค ทั้งเชื้อแฝง ยีนย่อยยา ป้องกันปัญหาประสิทธิภาพการรักษา นำร่อง "เชียงราย พิษณุโลก ขอนแก่น" ก่อนขยายพื้นที่อื่นๆ อธิบดีฯชูร่วม รพ.ชุมชนใช้ชุดตรวจ “ทีบีแลมป์” ค้นหาผู้ป่วยทีบี ย้ำ! หากไอเรื้อรัง มีอาการ ขอให้รีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อวัณโรค รพ.เพื่อรักษา สิทธิ์บัตรทองฟรี

 

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Mr. Kazuya Suzuki หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานประเทศไทย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการโครงการ Technical Cooperation Project for Accelerating Social Implementation of Science and Technology (TCP/ASIST) ร่วมกับผู้แทนกรมควบคุมโรค คือ พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาด  โดยวัตถุประสงค์โครงการเพื่อควบคุมวัณโรคในแหล่งระบาด และรักษาผู้ป่วยเพื่อยุติวัณโรค

 

หลังโควิด19 มุ่งตรวจจีโนมหาเชื้อวัณโรค

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วัณโรคหรือ TB ยังเป็นปัญหาของทั้งโลก เพียงแต่ช่วง 2-3 ปีมีโควิด19 เข้ามา แต่ TB ยังไม่ได้หายไปไหน หากจัดการไม่ดีก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น การจัดการวัณโรค จึงเป็นวาระของโลก หลายประเทศต้องร่วมมือกันในการลดผู้ป่วยลงด้วยการหาให้เร็ว และรักษาในครบถ้วน ป้องกันปัญหาการดื้อยา ซึ่งประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรคสูง โดยพบในสัดส่วนประมาณ 100 กว่าๆต่อแสนประชากร และไทยยังไม่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)  ในแต่ละปีมีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตประมาณ 12,000 ราย เรายังจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดให้ยุติวัณโรคให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดวัณโรคอย่างน้อย 12.5% ต่อปี

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า เป้าหมายในพ.ศ.2578 เราต้องลดการเสียชีวิตจาก TB ลงให้ได้ 90% และลดผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ให้ได้ 90% โดยทีบีต้องไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ซึ่งเราต้องเดินไปถึงให้ได้ ซึ่งความร่วมมือกับทางไจก้า ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ ในรอบ 3 ปีจะใช้ความรู้ทางด้านจีโนมิกส์ ในการตรวจจีโนมมนุษย์ ด้วยการถอดสายพันธุ์ของวัณโรค ซึ่งปัจจุบันสายพันธุ์ TB มี 9 สายพันธุ์ ส่วนไทยมีสายพันธุ์จีน และอินเดีย และในสายพันธุ์ย่อยๆจะบอกได้ว่า ควรรักษาแบบไหน ดื้อยามากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรามีเทคโนโลยี อย่างการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อ Mycobacterium tuberculosis (MTB) เพื่อระบุสายพันธุ์และประเมินความไวยาของเชื้อ การตรวจการแสดงออกของยีน (Gene Expression) เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรค (Active TB disease)

กรมวิทย์ร่วมมือรพ.ชุมชน ใช้ชุดตรวจ “ทีบีแลมป์” ตรวจเสมหะหาผู้ป่วย TB   

อีกทั้ง เดิมการตรวจทีบี จะตรวจเสมหะ ซึ่งตรวจยาก แต่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีมากขึ้น  มีการพัฒนาชุดทดสอบ ทีบี แลมป์ (LAMP : Loop-mediated isothermal amplification) มาเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยวัณโรคแบบมีอาการ ใช้การตรวจดีเอ็นเอจากตัวอย่างเสมหะ จึงมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อ วิธีการตรวจง่าย สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล เครื่องมือไม่ซับซ้อน โรงพยาบาลในระดับอำเภอ โรงพยาบาลชุมชนสามารถตรวจได้ นอกจากนี้ คนที่เป็นทีบีแฝง ก็มีเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การตรวจ Interferon-gamma release assay (IGRA) เพื่อวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง (latent TB infection)

 

ชูเทคโนโลยี “แนททู” ตรวจยีนย่อยยา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยวัณโรค

“คนป่วยวัณโรค ส่วนหนึ่งรักษาไม่สำเร็จเพราะเสียชีวิตก่อนก็มี หรือให้ยาแล้วไม่ได้ผล เราจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจยีนย่อยยา ที่เรียกว่า  N-Acetyltransferase 2 (NAT2) หรือ แนททู  มาช่วยตรงนี้ เพราะหากย่อยยาไม่ดี ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษาได้ สิ่งเหล่านี้เราจะร่วมมือกับนักวิจัยของทางญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆองค์ความรู้เรามีแล้ว แต่จะต้องนำไปปฏิบัติจริง โดยโครงการนี้มีระยะเวลา 3 ปี ด้วยความร่วมมือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับศูนย์ควบคุมโรคระดับเขตต่างๆ จะทำการคัดกรองหาผู้ป่วย ตรวจยีน และรักษาให้เหมาะสมต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

โครงการ 3 ปีนำร่อง  “เชียงราย” ไปพิษณุโลก และขอนแก่น ก่อนขยายพื้นที่อื่นๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการตรวจพันธุกรรมเพื่อหาเชื้อวัณโรคในกลุ่มตัวอย่างพื้นที่ใด จำนวนเท่าใด นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า  จำนวนนั้นคาดว่าจะทำให้มากที่สุดเท่าที่ได้ แต่จะมีเกณฑ์กำหนด เช่น พื้นที่ที่มีความเสี่ยง มีความชุกโรคนี้สูง หรือสถานที่แออัด ในเรือนจำ หรือกลุ่มเสี่ยง เช่น คนในครอบครัวป่วยวัณโรค หรือมีภูมิคุ้มกันย่อหย่อน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันการแพร่ระบาดของวัณโรคที่ดีที่สุด คือ การหาให้เจอและรักษาให้หาย หากให้ยาครบถ้วน ไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ โอกาสลดการแพร่เชื้อจะน้อยลง แทบจะเป็นศูนย์ แต่ปัญหาวันนี้เราหาไม่ค่อยเจอ  การรักษาต้องต่อเนื่อง หากรักษาไม่ดีก็มีโอกาสดื้อยาได้ ซึ่งมีการดื้อยาหลายขนาน โดยเฉพาะดื้อยาขั้นสุด ที่เรียกว่า ดื้อยาแบบ XDR  คือ รักษาสูตรไหนก็ไม่ค่อยหาย ตรงนี้ก็ต้องป้องกัน กรณีนี้เมื่อพบเคสดื้อยาขั้นสุดอาจต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น เมื่อเจอผู้ป่วยจะต้องพามานอน รพ.ในระยะหนึ่ง เขาก็จะขาดรายได้ ไม่มีใครสนับสนุน ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ก็ต้องมาช่วย เพราะหากไม่มี ผู้ป่วยก็จะไม่ค่อยอยากอยู่รักษา

ความร่วมมือ มอ ศึกษาเชื้อดื้อยาวัณโรค-ใช้เทคโนโลยี แนททู

 

เมื่อถามว่าจะมุ่งเน้นพื้นที่ไหนเป็นพิเศษ เห็นว่าก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยสงขลาราชนครินทร์ (มอ) มีเรื่องการควบคุมโรคทีบีเช่นกัน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เราร่วมมือหลายหน่วยงาน ทางสงขลาก็มีร่วมมือเกี่ยวกับการจัดการเชื้อดื้อยาวัณโรค อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการที่ร่วมกับไจก้าช่วงระยะเวลา 3 ปีนี้ เราจะมุ่งถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อทีบีในพื้นที่รพ.เชียงประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ติดกับชายแดน มีการเดินทางเข้าออกจำนวนมาก  ประกอบกับรพ.เชียงรายฯ มีความร่วมมือกับเรามาตลอด ซึ่งหากโมเดลดีก็จะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย    

 

ด้าน นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้มีการร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการทำเรื่องตรวจยีนย่อยยา แนททู ในคนที่ได้รับยาต้านวัณโรค ขณะเดียวกันกำลังผลิตนักวิจัยเกี่ยวกับวัณโรคอยู่ อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 ปีเราจะเริ่มที่ภาคเหนือก่อน ในจังหวัดเชียงราย และขยายไปยังพิษณุโลก ขอนแก่น จากนั้นจะขยายไปสงขลา และพื้นที่อื่นๆต่อไป

 

 

หากไอเรื้อรัง มีอาการขอตรวจหาวัณโรค เพื่อรักษาได้ทัน ขณะที่สิทธิรักษาบัตรทองฟรี!

 

ขณะที่ พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปกติของการรักษาวัณโรค ผู้ป่วยต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อย่างสมัยก่อนคนไข้วัณโรคดื้อยาต้องกินยาเป็นเวลานานๆ กินยา 2 ปี ฉีดยาอยู่ 6 เดือน แต่มียาสูตรระยะสั้น กิน 9 เดือน แต่ล่าสุดมียาสูตร 6 เดือน กำลังนำเข้ามา เป็นยารุ่นใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากโกลบอลฟันด์  ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สิทธิการรักษาอยู่ และหากใครสงสัยว่าเป็นขอให้รีบมาตรวจ สามารถตรวจคัดกรองและรักษาได้ฟรีตามสิทธิการรักษา สำหรับสถานการณ์วัณโรคในไทย  พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วย 100,000คน และ วัณโรคดื้อยา 2,500  คน ในจำนวนนี้มี 800 คนได้รับการรักษาและดูแลแล้ว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้ายว่า   วัณโรคเป็นโรคที่ต้องรักษาให้เร็ว หลายคนกลัว ไม่อยากให้ใครรู้ แต่ยิ่งไม่รักษายิ่งเพิ่มความเสี่ยง  ดังนั้น หากมีอาการไข้ต่ำๆ ไอเรื้อรัง น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ และหากมีคนในครอบครัวเคยเป็นทีบี ก็ขอให้มาตรวจ เพื่อเข้าสู่การรักษา และมีสิทธิ์การรักษาฟรี ส่วนข้อมูลที่ระบุว่า ทีบีมีอยู่ในคนทุกคน จริงๆไม่ใช่ แต่เป็นกรณีคนที่รับเชื้อทีบี อาจไม่ได้แสดงอาการ ที่สำคัญทีบีไม่ได้ติดยาก ดังนั้น ขอให้มาตรวจ ซึ่งการตรวจทีบี จะตรวจเสมหะเป็นหลัก  เนื่องจาก80-90% เป็นวัณโรคจากปอด แต่หากนอกปอดเรามีเทคโนโลยีตรวจเลือดรองรับ แต่จะเป็นกรณีเฉพาะ  

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org