ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มองปัญหาหมอลาออก ส่วนหนึ่งเกิดการกระจุกตัวในเมือง หนุนนโยบาย “แพทย์ประจำตำบล” มอบทุนให้พื้นที่ปั้นแพทย์ และเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรสาธารณสุขสายอื่น เช่น พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ให้ทุนเรียนต่อ เมื่อจบกลับภูมิลำเนา  เชื่อช่วยเรื่องแพทย์ขาดในชนบทได้  แต่เป็นเรื่องต้องใช้เวลา

 

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นายประพันธ์ ใยบุญมี ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังร่วมประชุมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอีก 3 ชมรมสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหากำลังพลด้านแพทย์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า ตนขอแสดงความคิดเห็นในมุมของคนทำงาน ปัญหาของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือ อินเทิร์น ที่เมื่อใช้ทุนแล้วก็จะลาออกเพื่อไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง ทำให้แพทย์ปฏิบัติงานขาด รวมถึงแพทย์บางคนเมื่ออินเทิร์นเสร็จก็มีความต้องการลาออกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คนที่ตัดสินใจเรียนแพทย์ส่วนใหญ่คือนักเรียนที่มีความรู้ ความสามารถซึ่งจะมาจากโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีโอกาสสูง แต่เมื่อต้องเป็นแพทย์อินเทิร์น ก็ต้องเข้าสู่ระบบการหมุนเวียนแพทย์ ไปทำงานอยู่โรงพยาบาล (รพ.) ต่างจังหวัด 3 ปี จากนั้น ก็จะลาออกเพื่อกลับมาอยู่ในเมือง ทำให้เกิดการกระจุกตัว หรือบางส่วนก็จะพบปัญหาว่าแพทย์รุ่นพี่ก็มอบหมายภาระงานให้น้องเยอะ เช่น การขึ้นเวร ก็ทำให้อินเทิร์นตัดสินใจลาออกเพราะภาระงาน

ปัจจัยทำให้ “หมอลาออก” ค่าตอบแทน

“ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลาออกคือ ความต้องการค่าตอบแทน   ขณะที่ สธ. ต้องมีการกระจายแพทย์ไปอยู่ต่างจังหวัดด้วย ส่วนเรื่องสวัสดิการที่ สธ. เติมให้ก็ถือว่าไม่น้อย 1.เงินเดือน 2.รายเคส และ 3.ค่าวิชาชีพ แต่จะไปเทียบกับเอกชนก็คงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องร่วมกันแก้ปัญหาหลายๆฝ่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นจะโทษเพียงสธ.อย่างเดียวคงไม่ใช่” นายประพันธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงภาระงานที่เกิดจากหลักประกันสุขภาพของคนไทย นายประพันธ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยมากขึ้นก็สอดคล้องกับการเข้าถึงบริการของคนไทยที่มากขึ้น แต่อัตราเติบโตของแพทย์ยังเท่าเดิมและยังมีการลาออกอีกด้วย  

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ชู “หนึ่งจังหวัด หนึ่งรพ.” ดูแลผู้ป่วยร่วมกัน แบ่งปันบุคลากร บรรเทาภาระงาน)

แพทย์ประจำตำบล อีกทางแก้ปัญหาแพทย์กระจุกตัวในเมืองกรุง

เมื่อถามว่าการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ ควรจะเห็นผลภายในกี่เดือน นายประพันธ์ กล่าวว่า ตนมองว่าการแก้ไขปัญหานี้ต้องใช้เวลา ถ้าเป็นการแก้ไขปัญหาระยะกลางนี้ตนเห็นด้วยกับนโยบาย “แพทย์ประจำตำบล” ที่เป็นการมอบทุนให้กับแต่ละตำบล เพื่อให้ปั้นแพทย์ในพื้นที่ และ การเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรสาธารณสุขสายอื่น เช่น พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ให้ทุนไปเรียนต่อแพทย์ได้ เมื่อจบมาก็มาทำงานที่ภูมิลำเนา เพราะตอนนี้แพทย์เกิน 50% อยู่ใน กทม. แล้วก็มีการทำงานในคลินิกเอกชนด้วย แต่ถ้าเทียบกับต่างจังหวัดที่บางจังหวัดไม่มีเด็กไปเรียนแพทย์เลย ดังนั้น เราต้องให้ทุนบุคลากรในจังหวัด และให้ทุนเด็กมัธยมในแต่ละจังหวัด เพื่อกลับไปทำงานในภูมิลำเนา ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี

แพทย์กับจิตวิญญาความเป็นห่วงประชาชน

“ท่านปลัดสธ. เป็นห่วงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่สามารถไปห้ามไม่ให้แพทย์ลาออกได้ ส่วนเรื่องภาระงานเป็นปัญหามานาน แต่แพทย์บางคนมองเรื่องค่าตอบแทน ทั้งที่บางคนได้ค่าตอบแทนเป็นแสน ไม่รวมเงินเดือน แพทย์สมัยเก่าจะใช้จิตวิญญาณ ความเป็นห่วงประชาชน ต้องยอมรับว่าเด็กส่วนหนึ่งทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เมื่อเสร็จแล้วก็ถือว่าจบ” นายประพันธ์ กล่าว

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ประชุม 4 ชมรมสาธารณสุข หาทางออกภาระงานปม “หมอลาออก” ชูทบทวน "แพทย์อินเทิร์น")

ข่าวเกี่ยวข้อง 

-“หมอวาโย” ค้านข้อเสนอปรับหลักสูตร “หมออินเทิร์น” จาก 6+1 ปี เป็น 7 ปี ชี้แก้ไม่ตรงจุด ถอยหลัง กำปั้นทุบดิน

-สปสช.เตรียม5แนวทางหารือ สธ.ลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

-แพทยสภาห่วงปัญหาหมอลาออก และขาดแคลนแพทย์ ของสธ. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อดำเนินการ

-วิกฤตระบบสาธารณสุข ภาระงานล้น บุคลากรอ่อนแรง ทางแก้ต้องเป็น “วาระแห่งชาติ”

-เสียงสะท้อน “พยาบาล” ลาออกเพียบ! เฉลี่ยปีละ 7,000 คน เหตุภาระงานล้น ค่าตอบแทนน้อย