ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตเผยกรณีจิตวิทยาความเหลื่อมล้ำปม “หมอลาออก” แนะวิธี “สติในองค์กร” ช่วยได้ หรือ Mindfulness in Organization (MIO) พบว่า รพ.ที่ใช้แนวทางนี้มีความเครียดและการลาออกลดลง  ชูตัวอย่าง รพ.มุกดาหาร รพ.หนองบัวลำภู รพ.ชัยนาทฯ รพ.พิมาย รพ.หล่มเก่า เป็นต้น

 

จากกรณี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้เขียนบทความผ่านเฟซบุ๊กกรณี “จิตวิทยาความเหลื่อมล้ำกรณีแพทย์ใช้ทุนลาออก” ภาค 1 โดยแนะว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่แก้ไขได้ง่ายที่สุด คือ ช่วยแพทย์ใช้ทุนลดความรู้สึกถูกเอาเปรียบ  เพราะความเครียด กดดัน ไม่อยากทำงานเสียยิ่งกว่าภาระงาน ยิ่งรุ่นพี่บางคนสื่อสารไม่ดี ยิ่งซ้ำเติมปัญหามากขึ้นนั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอยงยุทธ” เผยกรณี “หมอลาออก” มาจากความเหลื่อมล้ำในที่ทำงาน " คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก")

 

ล่าสุด นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้เขียนบทความภาค 2 ต่อจากภาคแรกผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 

จิตวิทยาความเหลื่อมล้ำกรณีแพทย์ใช้ทุนลาออก ภาค 2 : สติในองค์กรช่วยได้อย่างไร

 

จากตอนแรกที่วิเคราะห์แพทย์ใช้ทุนลาออกว่า สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสถานที่ทำงาน ซึ่งไม่ได้เกิดกับแพทย์เท่านั้น แต่ยังเกิดกับบุคคลากรและองค์กรอื่นๆด้วย เป็นสาเหตุของการหมดไฟในการทำงาน โดยเฉพาะรพ.ที่มีความเครียดสูง เพราะเป็นเรื่องของความเจ็บป่วย/ชีวิต ภาระงานมาก (24 ชม.) และกระทบกระทั่งกันง่าย (ระหว่างทีมงานและกับผู้ป่วย/ญาติ) การแก้ไขเชิงระบบในระยะยาวเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในระยะถัดไป จากระยะสั้นที่ลดความเหลื่อมล้ำ โดยผู้บริหารและองค์กรแพทย์อย่างที่เสนอในตอนที่๑ แล้ว ที่สำคัญคือการปรับค่านิยมและวัฒนธรรมการทำงาน

 

สติในองค์กร หรือ MIO

จากการที่อยู่ในวงการใช้จิตวิทยาสติ เพื่อพัฒนาองค์กร หรือสติในองค์กร (Mindfulness in Organization : MIO) ซึ่งมีรพ.เป็นองค์กรกลุ่มสำคัญ นอกเหนือจากสถานประกอบการเอกชน พบว่า รพ.ที่ทำ MIO จะมีความเครียดและการลาออกลดลง ความสุขเพิ่มขึ้น ความผูกพันในองค์กรเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับความพึงพอใจของผู้รับบริการ โดยที่ข้อร้องเรียนและความผิดพลาดลดลง ประเด็นสำคัญคือ สติช่วยได้อย่างไร

 

สติในที่นี้เป็น "จิตวิทยาสติ" ที่อธิบายด้วยจิตวิทยาและศาสตร์สมอง จิตพื้นฐานที่เราใช้งานอยู่ มีแนวโน้มสะสมเรื่องลบๆ จนกลายเป็นอารมณ์และความเครียด จิตวิทยากระแสหลักจึงมุ่งกับการฝึกทักษะการจัดการกับความคิดลบและความเครียด เพื่อปรับปรุงจิตพื้นฐานให้ทำงานดีขึ้น แต่จิตวิทยาสติเป็นกระแสใหม่ที่มุ่งเน้นจิตที่มีคุณภาพ คือ พักด้วย"สมาธิ" และทำงานด้วย "สติ" ซึ่งนอกจากจะไม่สะสมความคิดลบแล้ว ยังเป็นคุณภาพจิตที่มั่นคง ปล่อยวาง มีเมตตาและให้อภัย

 

ตัวอย่างในรพ.ที่สะสมเรื่องราว/ความคิดลบ เช่น เจอคนไข้พฤติกรรมดีๆ 10 คน แต่มีปัญหา 1 คน จิตก็มักจดจำรายที่เป็นปัญหา ทำงานร่วมกับผู้อื่นดีๆ 10 ครั้ง แต่มีเรื่องยุ่งยาก 1 ครั้ง จิตก็มักจดจำรายที่ยุ่งยาก เมื่อเป็นแบบนี้ทุกวัน ย่อมทำให้มีอารมณ์ ความเครียด และหมดไฟในการทำงานได้ง่าย ยิ่งเจอปัญหา"การสื่อสารทางลบ" และ "การประชุมที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้" ก็พาให้ยิ่งแย่กันไปใหญ่

 

รพ.ทำ MIO ฝึกบุคลากรมีสติในการทำงาน

รพ.ที่ทำ MIO จะฝึกให้บุคคลากรมีสติในการทำงาน โดยเริ่มจากการทำสมาธิ ก่อน/ เลิกงาน 3-5 นาที ให้จิตสงบ ลดความว้าวุ่น แล้วมีสติรู้ตัวในการทำกิจต่างๆ (รู้ลมหายใจ รู้ในกิจที่ทำ ตามที่ได้ฝึกมา โดยมีระฆังสติช่วยเตือนเป็นระยะ) สติจะช่วยให้ใส่ใจในการทำงานมากขึ้น เมื่ออยู่กับปัจจุบันก็ช่วยให้ควบคุมความคิด/อารมณ์ได้ดีขึ้น ยิ่งกว่านั้น "สติในองค์กร" ยังเน้นการทำให้เป็น"วิถีองค์กร" โดยครอบคลุมไปถึง การใช้"สติในการสื่อสาร" เพื่อให้ทำงานด้วยมิตรไมตรี เพราะพูด/ฟัง อย่างใคร่ครวญ ไม่ใช้อารมณ์ ที่สำคัญคือ นำสติมาใช้ในการประชุม ช่วยให้มีบรรยากาศของการเรียนรู้ด้วย "กัลยาณมิตรสนทนา" และแก้ปัญหาต่างๆด้วย "การอภิปรายอย่างสร้างสรรค์" จึงแก้ปัญหาในงานและบุคคลากรได้โดยลุล่วง

 

สนใจรายละเอียด ดูได้ใน WS ของ thai mio.com ในภาพรวม และของรพ.ที่ทำ MIO เช่น รพ.มุกดาหาร รพ.หนองบัวลำภู รพ.ชัยนาทฯ รพ.พิมาย รพ.หล่มเก่า เป็นต้น