ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” เผย WHO FCTC ประเมินการควบคุมยาสูบของไทยดี ด้าน “หมอประกิต” ชี้ทั่วโลกมี 39 ประเทศ รวมฮ่องกง-ไต้หวัน ห้าม “บุหรี่ไฟฟ้า” ขอรัฐบาลศึกษาดีๆ ห้ามแล้วอย่าเปลี่ยนแปลง สวนทางโลก  ผู้แทนฮูลั่นไม่มีปท.ไหนห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเปลี่ยนกลับคืน

 

องค์การอนามัยโลกร่วมหารือไทย ควบคุมบุหรี่ ทั้งบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน  ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.เอเดรียน่า แบลนโค มาร์กิโซ (Dr. Adriana Blanco Marquizo) หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว การประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) เกี่ยวกับการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย

นายอนุทิน กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาฯ อย่างเคร่งครัด โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ออกนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว รวมถึงตรากฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควบคุมและคุ้มครองสุขภาพประชาชนให้ปลอดจากโทษ พิษภัย และผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งศักยภาพการดำเนินงานควบคุมยาสูบให้เกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่การจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่ออย่างยั่งยืน

ฮูยันบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย! ไม่ได้ช่วยเลิกบุหรี่ทั่วไปได้

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ทางดร.เอเดรียน่า แบลนโค มาร์กิโซ  หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ และคณะ ได้มาร่วมหารือกันในการพิจารณา ทบทวนนโยบายมาตรการควบคุมยาสูบของไทย มีการพูดคุยถึงบุหรี่ไฟฟ้า ว่า มีการโฆษณาตามโซเชียลฯ ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป ทำให้คนเลิกบุหรี่ได้ ลดอันตรายได้ ซึ่งได้ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง  ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนสอบถามการดำเนินการต่างๆของไทย โดยยังได้ชื่นชมมาตรการการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของไทยว่า มีประสิทธิภาพได้เต็มที่ สามารถเป็นแบบอย่าง มีประสิทธิภาพสูงทัดเทียมนานาประเทศ

“อนุทิน” เชื่อทุกรัฐบาลคำนึงสุขภาพเป็นหลัก ภาษีเป็นเรื่องรอง

“กระทรวงสาธารณสุข ยังยืนยันว่า ยาสูบไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ไม่ว่าบุหรี่ทั่วไป ใบยา หรือบุหรี่ไฟฟ้า ทางกระทรวงฯ ยืนยันว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุขจะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืน และยังคงเจตนารมณ์ไม่สนับสนุนเช่นเดิม สำหรับเรื่องภาษีสรรพสามิตก็ไม่ได้ทำให้ได้ภาษีมากมาย และเชื่อว่ารัฐบาลทั้งชุดนี้ที่กำลังจะหมดวาระ หรือไม่ว่าชุดไหนที่จะเข้ามา ทุกรัฐบาล คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องการจัดเก็บภาษีเป็นอันดับรอง ซึ่งในมุมมองเชิงบริหารก็จะเป็นไปตามแนวทางนี้” นายอนุทิน กล่าว

 

“หมอประกิต” ขอรัฐบาลใหม่คิดดีๆ อย่ายกเลิกห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า อย่าสวนทางโลก

ด้าน ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ก่อนหน้านี้มี 32 ประเทศ ที่ประกาศห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า กระทั่งเมื่อเดือนธันวาคม 2565 เพิ่มเป็น 35 ประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า และช่วงต้นเดือนมกราคม 2566 เพิ่มมาอีก 2 ประเทศ จึงรวมเป็น 37 ประเทศที่มีการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังมีฮ่องกงและไต้หวัน ซึ่งนับว่าเป็นจีน จึงไม่ได้นับเป็นประเทศ ดังนั้น จริงๆ แล้วมีถึง 39 ประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า

“ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่เข้ามาและประกาศไม่ห้ามจำหน่ายหรือนำเข้าก็จะกลายเป็นประเทศเดียวในโลกจากห้าม มาขายได้ ดังนั้น ขอให้พิจารณาศึกษาให้รอบคอบว่า ทำไมประเทศอื่นๆจากเคยขาย มาเป็นห้าม แต่ไทยจากห้ามอยู่แล้ว จะมาเปิดให้ขายได้ ก็จะกลายเป็นสวนทางกับประเทศอื่นๆทั่วโลก จึงต้องฝากตรงนี้ให้พิจารณา” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

  

ผู้แทนฮูลั่นไม่มีปท.ไหนห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วมาเปลี่ยนกลับคืน

ขณะที่ ดร.เอเดรียน่า กล่าวว่า จากการมาประเมินประเทศไทย พบว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าและเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคในเรื่องของการควบคุมยาสูบ ซึ่งการดำเนินการของ WHO FCTC มุ่งเน้นในการช่วยหรือปกป้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน เนื่องจากอาจมีเรื่องของผลกระทบระยะยาว หวังเป็นอย่างยิ่งจะมีมาตรการในการช่วยเรื่องของการทำงานควบคุมยาสูบ และหวังว่าประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของโปรโตคอลในการป้องกันการค้าเรื่องของยาสูบที่ผิดกฎหมาย

เมื่อถามถึงกรณีหากจะมีการเปลี่ยนนโยบายโดยเปิดให้มีการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้จะเกิดอะไรขึ้น  ดร.เอเดรียน่า กล่าวว่า ไม่มีประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วกลับคืน ห้ามแล้วห้ามเลยไม่เปลี่ยนแปลง และขณะนี้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่มีข้อไหนที่แนะนำว่า ควรจะให้ถูกกฎหมายหรือเป็นสิ่งดีต่อสุขภาพฉะนั้น จึงยืนยันแน่นอนว่า ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไป คนที่จะได้รับผลกระทบ คือ เยาวชน การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนจะเพิ่มมากขึ้น จะเป็นปัญหาที่สำคัญต่อไป ดังนั้น คำแนะนำคือ ห้ามแล้วต้องไม่ยกเลิก

ย้ำ! การจัดเก็บภาษีเป็นเพียงข้ออ้าง

เมื่อถามว่ามีการอ้างว่าการเปิดเสรีบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้จัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ดร.เอเดรียน่ากล่าวว่า ภาษีเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะขณะนี้ผู้บริโภคบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น การหวังว่าจะได้ภาษีเป็นกอบเป็นกำจากส่วนนี้ จึงไม่ได้ในตอนนี้ และหากมีการเก็บภาษีมากขึ้นก็หมายความว่า ผู้บริโภคจะมากขึ้นด้วยเช่นกัน การที่มีผู้บริโภคมากขึ้นตรงนี้เป็นกำไรของบริษัทที่จำหน่าย แต่ไม่ใช่กำไรของภาครัฐ ที่ได้ภาษีมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ต้องเสียไปกับการดูแลสุขภาพ ซึ่งในทางอุตสาหกรรมเรียกว่าได้คืบจะเอาศอก เพราะเมื่อเข้ามาแล้วก็จะบอกว่า ขอภาษีต่ำลง จะได้ขายได้ เป็นการเปิดตลาด กลายเป็นว่าคนสูบบุหรี่อย่างหนึ่ง ก็จะมาซื้อของเขา แม้เราจะได้ภาษีจริง แต่หักค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เป็นค่าใช้จ่ายระยะยาวแล้วถามว่าคุ้มกันหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยสูบเข้ามาสู่เป็นการเป็นนักสูบหน้าใหม่ และยิ่งเป็นเด็กๆ สมองก็จะถูกทำร้ายด้วยนิโคติน เป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลด้านสาธารณสุข

ผู้แทนฮู ถามกลับอะไรสำคัญกับประชาชน “สุขภาพ” หรือ “เงิน”

ถามต่ออีกว่ามีการอ้างว่าเป็นเรื่องของเสรีภาพในการที่จะให้มีการเปิดขายและสูบบุหรี่ไฟฟ้า  ดร.เอเดรียน่า กล่าวว่า ต้องถามตัวเองว่าอะไรสำคัญกว่ากันสำหรับประชาชน สุขภาพหรือจะเอาเงิน อะไรคือหัวใจของประเทศนี้ และการที่จะตัดสินใจอะไรสักอย่างต้องนึกถึงผลลัพธ์ด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ผลลัพธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เรามีผลลัพธ์หลายอย่างหลายด้าน อย่ามองเรื่องเดียวแล้วคิดว่านี่คือดีแล้ว อีกอย่างคือแม้จะเสรีก็จริง แต่เสรีแบบชีวิตสั้นจะเอาหรือไม่ เสรีแบบเป็นภาระคนอื่นใช่หรือเปล่า สิ่งนี้คือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับประเทศของหรือเปล่า เวลาคิดอะไรต้องคิดรอบด้าน และคิดว่าประเทศของเราควรจะไปทางไหน เราจะให้ประโยชน์สาธารณสุขหรือเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ประเทศที่ดีคืออะไรอยากให้คิดเรื่องนี้ ไม่ใช่เสรีทุกอย่างแล้วจะดีเสมอไป

 

ถามว่าประเทศที่หันกลับมาห้ามบุหรี่ไฟฟ้ามาจากปัจจัยอะไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร  ดร.เอเดรียน่า กล่าวว่า ประเทศที่มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม เพราะว่าการควบคุมยาก ฉะนั้นแต่ละประเทศจะต้องพิจารณาสถานะของตัวเอง ว่าตัวเองมีศักยภาพมากน้อยแค่ไหนในการบังคับใช้ ดังนั้น บางประเทศที่ไม่ได้เป็นโทเทิล แบน เช่น ประเทศออสเตรเลียที่บอกว่าใช้ได้ตามคำสั่งแพทย์ แต่ถ้าเป็นการใช้เพื่อสันทนาการไม่ได้ เพราะตระหนักว่าไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างแท้จริง แต่ละประเทศจึงให้พิจารณาศักยภาพการบังคับใช้กฎหมายของตัวเอง