ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สบส. ร่วมสสจ.ปทุมธานี -แพทยสภา -สคบ. ตั้งโต๊ะแจงคลินิกดังย่านรังสิต ผ่าจมูกคนไข้อายุ 26 ปีเสียชีวิตคาเตียง พบต่อเติมห้องผ่าตัดเถื่อน ส่วนแพทย์ 2 คน พบเป็นหมอจริง แต่ไม่ขอใบอนุญาตทำหัตถการคลินิกเจ้าปัญหา ยังไม่ชัดมีหมอกี่คนทำถูกต้อง แพทยสภารอชงข้อมูล ก่อนฟันผิดกม.-จริยธรรมแพทย์ แง้มหมอ 2 คนมาจากรพ.รัฐทั้งหมด

 

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วย ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีสบส. , นพ.อภิชน จีนเสวก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี , ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และ นายมานะ บุญส่ง ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าวประเด็นคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งย่านรังสิต ผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไขจมูกให้ผู้ป่วย โดยมีการดมยาสลบ จากนั้นผู้ป่วยก็เสียชีวิตภายในคลินิกดังกล่าว  

นพ.อภิชน กล่าวว่า เมื่อวานนี้ สสจ.ได้รับแจ้งว่ามีเหตุผู้เสียชีวิตในคลินิกใกล้กับตลาดรังสิต จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่จึงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้พบกับแพทย์ 4 คน ทั้งแพทย์ผู้ประกอบการ แพทย์ผู้ดำเนินการ แพทย์ผ่าตัด และ แพทย์วิสัญญี จากนั้นได้ขอดูเวชระเบียนเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ข้อมูลว่า เคสนี้เป็นเพศหญิง อายุ 26 ปี นัดหมายภายผ่าตัดเสริมจมูก หลังจากค้นข้อมูลในโซเชียลมีเดีย โดยเข้าห้องผ่าตัดเวลา 10.00 น. โดยตัดกระดูกซี่โครงมาเสริมจมูก ต่อมาเวลา 13.00 น. เริ่มมีความผิดปกติ ทางแพทย์วิสัญญี จึงแจ้งแพทย์ผ่าตัดว่าเกิดความผิดปกติ มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ เลือดเป็นกรด โดยเวลา 14.20 น. สัญนิษฐานว่าเกิดจากการแพ้ยาสลบ จึงให้การรักษาตามที่ร่ำเรียนมา จากนั้นเวลา 16.00 น. เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น จึงโทรแจ้งสายด่วน 1669 โดยมีทีมกู้ชีพฉุกเฉินชั้นสูงเข้ามาให้การช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้น จึงทำ CPR ประมาณ 1.30 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ จึงยุติการทำ CPR เวลา 17.23 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมแพทย์ชันสูตรมาถึงพื้นที่ก่อนส่งศพไปที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต

นพ.อภิชน กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น คลินิกดังกล่าว ได้ขออนุญาตเปิดสถานพยาบาล ตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 เป็นชนิดไม่รับผู้ป่วยค้างคืน แต่ล่าสุดหลังเกิดเหตุการณ์ กลับพบว่ามีการต่อเติมเปิดห้องผ่าตัด สภาพพบว่า มีเตียงผ่าตัด มีถังแก๊สดมยา มีไฟส่องสว่างในการผ่าตัด มีถังออกซิเจน แต่เนื่องจากไม่มีการขออนุญาต จึงถือเป็นสถานพยาบาลเถื่อน จากนี้จะมีการตรวจสอบเวชระเบียนและเชิญเจ้าของคลินิกเข้ามาให้ข้อมูลในช่วงบ่ายของวันนี้ เพื่อชี้แจงเหตุที่เกิดขึ้นตามขั้นตอน เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าสถานพยาบาลแห่งนี้มีแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาต ส.พ.6 ที่เป็นหนังสือแสดงความจํานงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพ เพียง 1 คนเท่านั้น และยังไม่ทราบว่าแอบเปิดห้องผ่าตัดมานานแค่ไหน มีแพทย์กี่คนที่มาผ่าตัด

เมื่อถามว่าแพทย์ทั้ง 2 คน ทั้งแพทย์ผ่าตัด และแพทย์วิสัญญี เป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานใน รพ.รัฐ ด้วยหรือไม่ นพ.อภิชน กล่าวว่า เบื้องต้น รพ.รัฐ แต่ขอตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง

เตรียมปรับโทษเอาผิดหนักขึ้น

ขณะที่ ทพ.อาคม กล่าวว่า สถานพยาบาลได้กำหนดมาตรฐานเรื่องบุคลากรที่จะให้บริการผ่าตัด หรือผู้ดมยาสลบ จะต้องยื่นขออนุญาต ส.พ.6 ถือเป็นหน้าที่ หากไม่ทำก็จะมีความผิดตาม พรบ.สถานพยาบาล มีโทษปรับ ขณะที่ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องควบคุมดูแลผู้ประกอบวิชาชีพให้ปลอดภัย รวมถึงการดูแลสถานที่ให้ปลอดภัย ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 34 (4) ส่วนการต่อเติมสถานที่โดยไม่ขออนุญาต ถือเป็นสถานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พูดง่ายๆ คือ คลินิกเถื่อน โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และส่งฟ้องต่อพนักงานสอบสวนต่อไป รวมถึง ตรวจสอบเอาผิดเกี่ยวกับการโฆษณาโอ้อวด โฆษณาอันเป็นเท็จ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สบส.อยู่ระหว่างปรับแก้กฎหมายเพื่อ เพิ่มโทษให้หนักขึ้น โดยโทษปรับเพิ่ม 3 เท่า เช่น โรงพยาบาล / คลินิกเถื่อน ที่มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท เพิ่มเป็น 300,000 บาท

แพทยสภาขอตรวจสอบแพทย์ทั้งสอง ก่อนยืนยันโทษ

เมื่อถามว่ากรณีที่แพทย์ไม่ได้ทำใบ ส.พ.6 ถือเป็นความจงใจ ละเมิดกฎหมายและไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดจริยธรรมของแพทยสภาหรือไม่ และจะมีโทษอย่างไร ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องมาดูว่า หากแพทย์ตั้งใจที่จะไม่ข้ออนุญาต แพทยสภามีแนวทางในการดำเนินงานของแพทย์ โดยกรณีนี้จะเป็นแนวทางการให้ยาสงบประสาทของแพทย์ในการทำหัตถการเกี่ยวการเสริมสวย  โดยแพทย์ที่ปฏิบัติงานในคลินิกลักษณะดังกล่าวทั้งหมดต้องปฏิบัติตามแนวทาง ซึ่งพบว่ามีการละเมิดตามข้อบังคับ ก็จัมรความผิด ส่วนจะเป็นความผิดขั้นไหน ต้องมีการพิจารณา ภาพรวมมี 4 ขั้น คือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ และเบิกถอนใบอนุญาต ซึ่งที่ผ่านมาจะเป็นการพักใช้ใบอนุญาต ส่วนกรณีเบิกถอนจะเกี่ยวข้องกับคดีความในชั้นศาล  เช่น การฆาตรกรรมผู้อื่น ดังนั้น กรณีนี้จะต้องรอให้ สบส. สอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาโทษ

สบส.ทำหนังสือแจงสสจ.กำชับตรวจคลินิกเอกชน

ด้านนพ.สุระ กล่าวว่า ในวันนี้(15 มิ.ย.) ทางสบส.ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังนพ.สสจ.ทั่วประเทศ เพื่อให้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานพยาบาล คลินิกเอกชนที่ดำเนินการเวชกรรมต่างๆ  ว่ามีการปฏิบัติตามที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร ซึ่งปกติมีการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่จากนี้จะขอให้เคร่งครัดตรวจสอบมากยิ่งขึ้น

 

โทษเบื้องต้นของคลินิกดังกล่าว

อนึ่ง ตามมาตรฐานที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ เบื้องต้นพบการกระทำในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสถานพยาบาล ดังนี้  

1)มีการแสดงเวลาทำการสถานพยาบาล ไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต

2) คลินิกไม่แสดงป้ายสอบถามอัตราค่ารักษาพยาบาล และไม่แสดงคำประกาศสิทธิผู้ป่วย

3)เวชระเบียน ไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด

4)ไม่มีที่วัดส่วนสูง

5)ไม่มีอุปกรณ์นับเม็ดยา และฉลากยาแสดงข้อมูลไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

6)ตู้เย็นแช่ยาไม่มีที่วัดอุณหภูมิยา

7)ไม่ขออนุมัติโฆษณาสถานพยาบาล

8)แพทย์ผู้ให้บริการมิได้ยื่นเรื่องแสดงความจำนงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล

9)มีการต่อเติมอาคารเพื่อให้บริการห้องผ่าตัดโดยไม่ได้รับอนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แจ้งข้อหาการกระทำผิดในเบื้องต้นกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งข้อมูลที่ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อการเสียชีวิตของหญิงสาวรายดังกล่าว

 

เบื้องต้นจะมีการดำเนินการตามข้อหาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1)ไม่จัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นประจำสถานพยาบาลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2)ไม่จัดให้มีและรายงานหลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3)ไม่ควบคุมและดูแลสถานพยาบาลให้สะอาด เรียบร้อย ปลอดภัย และมีลักษณะอันเหมาะสมแก่การเป็นสถานพยาบาล ความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

4)ไม่ขออนุมัติโฆษณาสถานพยาบาลจากผู้อนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทนับแต่วันที่ฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ระงับการโฆษณาหรือประกาศ ทั้งนี้ จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว

5)ต่อเติมอาคารหรือดัดแปลงอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

6)ในส่วนห้องผ่าตัดที่มีการต่อเติมขึ้นมาเพื่อให้บริการผู้ป่วยโดยมิได้ขออนุญาตนั้น มีความผิดตาม พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเบื้องต้น สสจ.ปทุมธานีได้มีการออกคำสั่งปิดคลินิกดังกล่าว เป็นการชั่วคราว 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2566 เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องตามมาตรฐานภายในระยะเวลากำหนด  หากคลินิกไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ก็อาจจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลได้

 

ข่าวอื่นๆ :

-สบส.รุดตรวจสอบ “เอเยนต์” นำชื่อคนป่วยไปหลอกซื้อยาจากคลินิกดัง! พร้อมตรวจสอบมาตรฐานวิชาชีพ “แพทย์แผนจีน”