ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอจ.สุรินทร์ ชี้ผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงน้อย แบบบูรณาการด้วย "ฟ้าทะลายโจร" พบว่าช่วยลดความรุนแรงผู้ป่วยปอดอักเสบได้และผู้ป่วยมีโอกาสเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจร ร้อยละ 76

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมพิทยา จารุพูนผล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ฯ จัดงานเสวนา “ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรพื้นบ้านจากทางเลือก สู่ทางรอด” โดย พญ.วรวรรณ กอปรกิจงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งนำเสนอในหัวข้อ "ผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงน้อย แบบบูรณาการด้วยฟ้าทะลายโจร" และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมเสวนาด้วย

พญ.วรวรรณ กอปรกิจงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เนื่องจากในพื้นที่โรงพยาบาลกาบเชิงผู้ป่วยมีความไว้ใจในการใช้สมุนไพรอยู่แล้ว ทั้งนี้ประเทศไทยได้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น ในปี 64 พบผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเกิดจากการอักเสบในเนื้อปอดส่งผลโดยตรงต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน ในช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการปกติแม้จะเกิดการอักเสบในปอด เรียกว่า “Silent hypoxemia” ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลําบาก อาจรุนแรงถึงขั้นหายใจล้มเหลว จําเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 

ประเทศไทยพบว่า การใช้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง (High-flow oxygen) และการใส่ท่อช่วยหายใจปอดอักเสบรุนแรง และ การเข้าหอผู้ป่วยวิกฤตหรือเสียชีวิต และพบว่าการได้รับยาฟาวิชิราเวียร์ (Favipiravir) ภายใน 4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจะช่วยลดปริมาณไวรัสได้ดี

ในส่วนของยาอื่นๆ เช่น ฟ้าทะลายโจร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทําเอกสารเผยแพร่ข้อควร รู้เกี่ยวกับการใช้ “สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide)” ในผลิตภัณฑ์ “ฟ้าทะลายโจร” เพื่อ “การรักษาโควิด-19” มีข้อมูลรายงาน การวิจัยในประเทศไทย พบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจํานวนของไวรัสโควิด

“เราจะมีคู่มือการใช้ยาสมุนไพรทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน โดยในคู่มือจะมีตัวเลือก ข้อดี ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าทำไมจะต้องเลือกใช้สมุนไพรตัวนี้ เช่น อาการไข้ ยาแผนปัจจุบันจะใช้ยาพาราเซตามอล แต่ถ้าเป็นยาสมุนไพรจะใช้ห้าราก ฟ้าทะลายโจร จันทน์ลีลา เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการอบรมบุคลากรทางการแพทย์เป็นประจำทุกปี เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้จะต้องลงพื้นที่ไปอยู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรืออยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์”

พญ.วรวรรณ กล่าวว่า ซึ่งในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา พบว่า มีการระบาดอย่างหนักของโรคติดเชื้อ โควิด-19 สายพันธ์เดลต้าที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยต้องกลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนาจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ มีภาวะปอดอักเสบ แต่จังหวัดสุรินทร์มีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ 1 คนที่ช่วยดูแลและตัดสินใจว่าผู้ป่วย ที่มีภาวะปอดอักเสบรายใดจะได้รับอนุมัติใช้ยา Favipiravir ทั้งจังหวัด โรงพยาบาลกาบเชิง จำเป็นต้องให้การรักษาผู้ป่วยแรกรับด้วยยาฟ้าทะลายโจร ระหว่างรออนุมัติยา Favipiravir ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากได้รับยา ตามแนวทางเวชปฏิบัติร่วมกับฟ้าทะลายโจรจนครบ 5 วัน

แต่ภายหลังวันที่ 4 สิงหาคม 2564 สธ.ไม่แนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาตามแนวทางเวชปฏิบัติอีก แต่มีข้อสังเกตว่า หลังจากยกเลิกการให้ฟ้าทะลายโจรร่วม มีผู้ป่วยได้รับการส่งต่อมากขึ้น ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการศึกษา ผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงน้อยแบบบูรณาการด้วยฟ้าทะลายโจร เพื่อหาแนวทางดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสม และเป็นข้อมูลทางวิชาการประกอบการพิจารณาถึงผลดีและผลเสีย ของการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงน้อย

พญ.วรวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงน้อยที่ได้รับฟ้าทะลายโจร ร่วมกับยาตามแนวทางเวชปฏิบัติ เทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาตามแนวทางเวชปฏิบัติเท่านั้น และการศึกษาแบบ Prospective descriptive study ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีภาวะ ปอดอักเสบรุนแรงน้อย (Pneumonia without hypoxia) โรงพยาบาลกาบเชิงติดตามเก็บข้อมูลผู้ป่วย คือ การคัดเลือกได้แก่ อายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับการยืนยันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ และได้รับการรักษาภายใน 24 ชั่วโมง  

ซึ่ง ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 116 ราย อายุเฉลี่ย 37 ปี ผู้ป่วย 85 ราย ได้รับการรักษาด้วยฟ้าทะลายโจรที่ให้สารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน จนครบ 5 วัน ร่วมกับการรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติ ผู้ป่วย 31 ราย ได้รับการรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติเท่านั้น พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้ฟ้าทะลายโจร พบภาพรังสีทรวงอกแสดงความผิดปกติที่ตำแหน่งเดียวของปอด มีโอกาสเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้น น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจรร้อยละ 76 และผู้ป่วยที่ภาพรังสีทรวงอกแสดงฝ้าขาวกระจายทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง พบว่ามีโอกาสส่งต่อโรงพยาบาลแม่ข่ายจากภาวะทรุดลง น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจร ร้อยละ 92   ซึ่งค่ารักษาด้วยยานั้น 4-5 พันบาท แต่ฟ้าทลายโจรหลักร้อย

สำหรับการศึกษากลุ่มตัวอย่างในผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงน้อย ในโรงพยาบาลกาบเชิง ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2564–25 สิงหาคม 2564 ประเมินผลอาการทางคลินิกหลังเข้ารักษา 5 วันด้วยการเอกซเรย์ปอด สรุปการศึกษานี้ การใช้ฟ้าทะลายโจรในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงน้อย ฟ้าทะลายโจรช่วยลดภาวะปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงน้อย ที่พบภาพรังสีทรวงอกแสดงความผิดปกติที่ตำแหน่งเดียวของปอด