ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กองทุน กปท.เทศบาลนครนนทบุรี จ.นนทบุรี จัดโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่ายและผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง มีความพึ่งพอใจโครงการ มองว่าเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 - นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 4 สระบุรี นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.นนทบุรี) พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังการดำเนินงาน “โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่ายและผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้” โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) โดยมี นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาเทศบาลนครนนทบุรี ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยและมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่

นายสมนึก กล่าวว่า กปท. เทศบาลนครนนทบุรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นการยกระดับการดูแลและส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่เขตเทศบาลนครนนทบุรี

 

กปท. เทศบาลนครนนทบุรี ได้สนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่

นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี กล่าวต่อว่า กปท. เทศบาลนครนนทบุรี ได้สนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ครอบคลุมในพื้นที่ ผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลนครนนทบุรี จำนวน 11 แห่ง และคลินิกหมอครอบครัววัดแคนอก เครือข่ายโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จำนวน 1 แห่ง รวมทั้งหมด 12 หน่วยงาน มีผู้ป่วยจำนวน 532 คน แบ่งได้เป็นกลุ่ม ดังนี้  กลุ่ม ก. เป็นบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 6 คะแนน ตามแผนการดูแลรายบุคคลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Care Plan) จำนวน 254 คน กลุ่ม ข. เป็นบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามผลการประเมินหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จำนวน 278 คน 

นายสมนึก กล่าวอีกว่า ได้รับงบประมาณจาก กปท. เป็นเงิน 4,609,248 บาท แต่ละคนจะได้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จำนวน 3 ชิ้น ต่อวัน คิดแล้วตกชิ้นละ 9.50 บาท โดยมีแผนแจกเป็นรายเดือนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่เก็บของบ้านผู้ป่วย ซึ่งผลการจัดทำโครงการตามแนวทางการดำเนินงานของ สปสช. พบว่าผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงพอใจโครงการ มองว่าเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงกว่าร้อยละ 2 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด

ด้าน นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงกว่าร้อยละ 2 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด ถ้าหากมีการดูแลสุขอนามัยที่ดีขึ้นก็จะทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้ หรือสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งการกระจายโครงการในพื้นที่ได้มีการให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ เป็นผู้ดำเนินการสำรวจ ทางด้านของเทศบาลนครนนทบุรีจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขดูแลผู้สูงอายุหรือ Care Giver สำรวจและมีการวางแผนการดูแลเป็นรายบุคคลเพราะแต่ละคนมีรายละเอียดที่จะต้องการดูแลแตกต่างกันไป

นพ.จเด็จ กล่าวว่า โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย และผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ เกิดจากการที่ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 มีมติเห็นชอบบรรจุ "ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับขับถ่าย" ให้เป็นสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจาก กปท.

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ภาพรวมทั้งประเทศมี กปท. 7,753 แห่ง ดำเนินการโครงการผ้าอ้อม 1,113 แห่ง  1,430 โครงการ ผู้ที่ได้รับผ้าอ้อมจำนวนมากถึง 25,901 ราย จากที่คาดการณ์ไว้ 1.3 หมื่นราย ปัจจุบันมีผ้าอ้อมที่แจก 124 ล้านชิ้น และแผ่นรองซับ 345,945 ชิ้น ใช้งบประมาณรวม 119.83 ล้านบาท
 สำหรับการจัดการงบประมาณ ปัจจุบันใช้กองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นที่มีการรวมกันระหว่างกองทุนของ สปสช. และกองทุนท้องถิ่น ซึ่งถ้าหากไม่เพียงพอ ตอนนี้สามารถที่จะทำแผนขึ้นมาเพื่อขอทุนระดับจังหวัดได้ แต่ถ้าหากว่ายังไม่เพียงพออีกก็จะมีกองทุนอีก 1 กองทุนเข้าไปเสริมเป็นของกองทุนกลาง 
 

“เราเชื่อว่า 3 มาตรการการจัดการที่เราวางไว้จะเพียงพอต่อพี่น้องประชาชนที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งการมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงคนหนึ่ง แน่นอนว่าเราต้องใช้ทรัพยากรจำนวนหนึ่งเข้ามาดูแล แต่ถ้าเราสามารถจัดระบบดีๆ ก็จะสามารถดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึงได้” นพ.จเด็จ กล่าว