ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญชวนหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมรณรงค์ตรวจเอชไอวี ส่งเสริมให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และประชาชนทั่วไปได้รับการตรวจและทราบสถานะการติดเชื้อของตนเองเพื่อเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ ทั้งด้านการป้องกันและการดูแลรักษา

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทุกวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ตรวจเอชไอวี (Voluntary Counseling and Testing Day: VCT Day) เพื่อสร้างความตระหนัก ให้ประชาชนทุกคนเข้าใจและเห็นความสำคัญของการรู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง สถานการณ์เอชไอวีประเทศไทยในปี 2565 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 561,578 คน (ข้อมูลจาก Thailand Spectrum-AEM, 27 เม.ย. 66) และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง จำนวน 507,009 คน คิดเป็น ร้อยละ 90 (ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์แห่งชาติ) ซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อย   ที่ยังไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเองและยังไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ดังนั้น การส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับบริการตรวจคัดกรองเพื่อทราบสถานะการติดเชื้อของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยเร็ว ภายใต้แนวคิด “Normalize HIV Testing: ตรวจฟรี ตรวจง่าย ตรวจเอชไอวีให้เป็นเรื่องปกติ”

1) ตรวจฟรี รักษาฟรี คุณภาพชีวิตดี คนไทยทุกคน มีสิทธิ์ตรวจเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยควรตรวจหลังมีพฤติกรรมเสี่ยงประมาณ 1 เดือน หากผลตรวจพบว่ามีเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาฟรีครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันที (same day ART) ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เมื่อกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง  ตรงเวลา และสม่ำเสมอ จะช่วยกดปริมาณไวรัสในกระแสเลือดได้สำเร็จจนตรวจไม่พบ ไม่ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังผู้อื่น ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี หากผลตรวจไม่พบเชื้อจะได้รับคำปรึกษาและความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกัน เช่น การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี การใช้ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ  (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) การใช้ยาป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อ (Post-Exposure Prophylaxis หรือ PEP) 

2) ตรวจง่าย ด้วยตนเอง ตรวจให้เป็นเรื่องปกติ ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV self-test) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้การตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากสามารถตรวจได้ง่าย ใช้ตรวจหลังมีพฤติกรรมเสี่ยงมาประมาณ 90 วัน ปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ชุดตรวจที่ตรวจจากเลือดเจาะปลายนิ้ว รู้ผลภายใน 1 นาที และชุดตรวจที่ตรวจจากน้ำในช่องปาก รู้ผลภายใน 20 นาที ตรวจและทราบผลด้วยตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา มีความเป็นส่วนตัว และสามารถหาซื้อที่ร้านขายยาทั่วไป หากผลการตรวจด้วยตนเองเป็นบวกควรตรวจยืนยันที่โรงพยาบาล เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว

3) ตรวจเอชไอวีให้เป็นเรื่องปกติ การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะทำให้ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง ซึ่งถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและคู่ เนื่องจากการติดเชื้อเอชไอวีไม่สามารถบ่งบอกจากภายนอกได้ว่ามีเชื้อหรือไม่ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกตรวจด้วยตนเอง หรือตรวจที่โรงพยาบาล ช่วยตอบโจทย์ความต้องการให้กับประชาชน และทำให้การตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องปกติ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เพิ่มบริการชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองในประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชน สามารถรับบริการตรวจเอชไอวีได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เข้าถึงง่าย เข้าถึงได้เป็นเรื่องปติ

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค โดยกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แนะนำให้ประชาชนมีความตระหนักในการใช้ถุงยางอนามัยเสมอ ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับทุกคน ทุกช่องทาง ซึ่งนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ได้จัดทำข้อมูลและสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์  เพื่อสร้างความตระหนักให้การตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องปกติ พร้อมเชิญชวนร่วมกิจกรรมรณรงค์ผ่านช่องทางออนไลน์  เพจกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตลอดเดือนกรกฎาคม