ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สานพลัง "โรงพยาบาลชุมชน" พัฒนาระบบสุขภาพองค์รวม กาย จิต ปัญญา สังคม

สสส. และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ-สพบ. สานพลัง โรงพยาบาลชุมชน พัฒนาระบบสุขภาพองค์รวม กาย จิต ปัญญา สังคม สร้างคุณภาพชีวิตสู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง นำร่อง 30 อำเภอ เตรียมพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 ที่ รร.อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) จัดการประชุมสัมมนา “เปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนเข้มแข็ง” ภายใต้ โครงการพัฒนาระบบสุขภาพองค์รวมสู่ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยโรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง ในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องที่ และท้องถิ่น

โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบสุขภาพองค์รวม คือ สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม ไม่ใช่เรื่องของหมอหรือโรงพยาบาลเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมา การพัฒนาสุขภาพกับการพัฒนาประเทศองค์รวม เชื่อมโยงสู่ชุมชนเข้มแข็ง ประกอบด้วย 1. พัฒนาการมีร่างกายที่สมบูรณ์ และอวัยวะทุกส่วนทำงานบูรณาการกันก็จะเกิดสุขภาพที่ดีและมีอายุยืน 2. ระบบบริการสุขภาพที่สมบูรณ์ ยามเจ็บป่วยก็ต้องการระบบสุขภาพที่ดีที่เรียกว่า EQE (equity-quality-efficiency) 3. ระบบนโยบายสาธารณะที่สมบูรณ์ สมองหรือปัญญาที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน การตัดสินใจดำเนินการได้อย่างถูกต้องถูกทิศทาง และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของคนในชุมชน นำไปสู่สุขภาวะที่สมบูรณ์เกิดชุมชนเข้มแข็ง และสุขภาวะแบบองค์รวม

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างนำซ่อม คือสร้างเสริมสุขภาพ ก่อนการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในการสร้างกลไกชุมชนเข้มแข็ง ที่คนในชุมชนจะต้องมีสุขภาวะที่ดี ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน หน่วยบริการสุขภาพรพ.สต. อสม. บูรณาการการมีส่วนร่วมกัน การพัฒนาสุขภาพองค์รวมสู่ชุมชนท้องถิ่น มีเป้าหมาย 1. พัฒนาสุขภาพชุมชนเข้มแข็ง โดยอาศัย รพ.ชุมชน และศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองเป็นศูนย์ ทำหน้าที่เป็นกลไกตัวกลางการขับเคลื่อนในระดับอำเภอ สู่คุณภาพชีวิต 2. โรงพยาบาลชุมชน และศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองเป็น “ศูนย์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง” อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น และภาคีที่เกี่ยวข้อง มีกลไกตัวช่วย “กลุ่มสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง” ในประเด็นมิติสุขภาพ คุณภาพชีวิต และสัมมาชีพ เศรษฐกิจชุมชน 3. สังเคราะห์องค์ความรู้ การจัดการความรู้โดยใช้เทคโนโลยี Digital platform และวิชาการด้านระบบสุขภาพ เป็นฐานในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง และระบบการสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากพื้นที่ ในโครงการเชื่อมโยงสู่ในระดับนโยบาย ให้ทุกคนเป็นเจ้าของสุขภาพ สู่ชุมชนเข้มแข็งที่มีสุขภาวะ

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้จัดการโครงการฯ และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สู่ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง ด้วยแนวคิดการพัฒนาระบบสุขภาพองค์รวม โดยอาศัยโรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองเป็นกลไกตัวกลางการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องที่ และท้องถิ่นในการขับเคลื่อน 30 อำเภอ และพัฒนาเครือข่ายนอกอำเภอ ได้แก่ “กลุ่มสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง” และ “เครือข่ายสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชน” เพื่อเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็งและระบบสุขภาพองค์รวม ตลอดจนเชื่อมโยงและจัดการความรู้โดยอาศัยเทคโนโลยี digital platform สังเคราะห์กระบวนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพตามบริบทที่แตกต่างของพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศ ให้สามารถจัดระบบบริการสุขภาพองค์รวมให้แก่ประชาชน และขยายผลสร้างเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยน องค์ความรู้สู่การแก้ไขปัญหา พัฒนาด้านอื่นๆ ได้ด้วยตัวเอง เกิดการมีส่วนร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุข ทั้งการรับรู้ ร่วมให้ข้อคิดเห็น ติดตาม ประเมินผล เพื่อจะได้มีผลต่อการนำไปขยายผลต่อไปในอนาคต ชุมชนเข้มแข็งมุ่งสู่เป้าหมายคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org