ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จับมือ 11 หน่วยงาน ในการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน และของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล เพื่อให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล และเพิ่มช่องทางเข้าถึงระบบร้องทุกข์มากขึ้น โดยยึดหลัก ให้บริการสะดวก รวดเร็ว และสามารถบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันท่วงที

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) ได้รับมอบหมายจาก 
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นผู้แทนฯ เข้าร่วมลงนาม (MOU) การขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ร่วมกับ 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการประชุมสัมมนาผู้นำการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน (Chief Complaint Executive Officer : CCEO) ประจำปีงบประมาณ 2566

นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข (ศบท.สธ)” เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานการแก้ไขปัญหาข้อร้องทุกข์ของประชาชนในภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข ให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญต่อการดำเนินการเกี่ยวกับการร้องทุกข์ และการเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และกำหนดให้ทุกหน่วยงานแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้นำขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน (Chief Complaint Executive Officer : CCEO) เพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแล ประสาน ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ภายใต้แนวทางที่มีมาตรฐานในการให้บริการ สอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดิน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นให้เกิดแก่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในแต่ละปีศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ฯ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ประมาณ 600 เรื่องต่อปี    

นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนที่จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ศูนย์ดำรงธรรม (กระทรวงมหาดไทย) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์แบบบูรณาการ และเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงระบบร้องทุกข์มากขึ้น โดยยึดหลัก ให้บริการสะดวก รวดเร็ว และสามารถบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันท่วงที