ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย หนุน “จังหวัดสะอาด” เน้นหลัก 3 R : Reduce Reuse Recycle แบ่งเป็น 3 ระยะ  "ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง" เพื่อลดปริมาณขยะและส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง จัดทำระบบเก็บขนอย่างมีประสิทธิภาพ และขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง ให้สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการคัดแยกขยะในชุมชนด้วย
 
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยคณะกรรมการประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2566  กลุ่มภาคกลางและภาคตะวันตก ลงพื้นที่เพื่อตรวจประเมินการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ดังกล่าว ณ ศูนย์แปรรูปขยะอินทรีย์ เทศบาลตำบลปราสาททอง อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเสนอผลการดำเนินงานของจังหวัด 

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” เป็นโครงการโดยกระทรวงมหาดไทย ที่เน้นขับเคลื่อนในทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมู่บ้านและชุมชน โดยใช้หลักการ 3 ช: ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ Rs: Reduce Reuse Recycle ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อลดปริมาณขยะและส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง จัดทำระบบเก็บขนอย่างมีประสิทธิภาพ และขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง

มีเป้าหมาย คือ ขยะมูลฝอยมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการคัดแยกขยะในชุมชน ขยะอินทรีย์ครัวเรือนได้รับการบริหารจัดการและนำไปใช้ประโยชน์ ขยะมูลฝอยได้รับการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น ในการรวบรวม เก็บขนขยะ และกำจัด ของเสียอันตรายชุมชนได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้น มูลฝอยติดเชื้อได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีความตระหนักและความเข้าใจในการจัดการขยะ   ที่ต้นทางเพิ่มขึ้น ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทั้งนี้ การลงพื้นที่ตรวจประเมินเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม ถึง วันที่ 5 สิงหาคม 2566 โดยแบ่งเป็น คณะกรรมการฯ 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งกรมอนามัยในฐานะประธานกรรมการกลุ่มภาคกลางและภาคตะวันตกกำหนดลงพื้นที่เพื่อประเมินและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินงาน ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดสมุทรสงคราม ตามลำดับ สำหรับผลการประกวดสามารถติดตามข้อมูลได้ที่กองสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว