ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงศึกษาธิการ  จับมือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ลงนาม MOU ‘ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา’ ตั้งเป้าสถานศึกษาทุกแห่งมีธรรมนูญสุขภาพฯ ดูแลผู้เรียนกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ

วันที่ 17 ก.ค. 2566 กระทรวงศึกษาธิการ ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ซึ่งจะเป็นกรอบทิศทาง หรือข้อตกลงร่วมของนักเรียน ครู และผู้ปกครองภายในสถานศึกษา ในการสร้างสุขภาพ ทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม ให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาและชุมชนตามกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 
 
ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ซึ่งการพัฒนาศักยภาพเยาวชนนั้น เก่งและดียังไม่เพียงพอ ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย จึงได้มีการลงนามบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา โดยเป้าหมายสำคัญที่ ศธ.มุ่งหวังคือให้ ทุกสถานศึกษาทั่วประเทศมีธรรมนูญสุขภาพของตนเอง ซึ่งจะดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งสถานศึกษา สมาคมผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานเอกชน ทำให้ผู้เรียนของเราทั้งในระบบและนอกระบบทุกระดับชั้น จำนวน 10,516,125 คน (ปีการศึกษา 2565) ได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี มีความรอบรู้ มีทักษะ และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ส่วนสถานศึกษาก็จะมีสภาพแวดล้อมที่มีสุขภาวะชัดเจนมากขึ้น สมดังเจตนารมณ์ของกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565

ด้านบทบาทของ ศธ. จะดำเนินการนำเป้าหมายและมาตรการของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 ไปใช้เป็นกรอบทิศทาง นโยบายด้านสุขภาพของ ศธ. เน้นแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ Health in All Policies (HiAP) มีการส่งเสริมกระบวนการพัฒนาให้ผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครองมีความรอบรู้ มีทักษะ และมีพฤติกรรมพึงประสงค์ด้านสุขภาพ โดยบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งสนับสนุนให้สถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด จัดทำธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ขยายผลออกไปในวงกว้างจากนักเรียนไปสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคมของตนเองให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพในทุกมิติ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เด็ก เยาวชน และสถานศึกษา เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนไทยให้มีความพร้อมทั้งกาย จิตใจ สติปัญญา และมีสุขภาพที่ดี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพตามทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งภายใต้กรอบของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การทำสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในทุกกลุ่มวัยและทุกระดับ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายระบบสุขภาพและสังคมที่เป็นธรรม

 “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 จะสามารถส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อจัดทำธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา เป็นกรอบและทิศทางในการสร้างสุขภาวะภายในโรงเรียน เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านอาหารและเครื่องดื่ม และการจัดการระบบดูแลสุขภาพของนักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้คนในสังคมเข้าใจกรอบและแนวทางของระบบสุขภาพไทย ตลอดจนใช้อ้างอิงเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดระบบสุขภาพไทยด้วย” นพ.ประทีป กล่าว.