ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เผยผลการดำเนินงานนโยบายมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้นทั้งในแง่จำนวนคนและจำนวนครั้ง มีการเพิ่มจำนวนหน่วยรังสีรักษาและหน่วยเคมีบำบัด ทำให้ทุกเขตสุขภาพดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ได้ดี ยกเว้นเขต 13 กทม. มีสัดส่วนผู้ป่วยมาจากนอกพื้นที่มากที่สุด 

วันที่ 25 ก.ค. 2566 พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึง ผลการดําเนินงานตามนโยบายมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ หรือ Cancer Anywhere โดยระบุว่า นโยบายนี้เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2564 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน ลดระยะเวลารอคอย ซึ่ง สปสช. จะดูแลเรื่องการจ่ายชดเชยค่าบริการ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติดูแลการออกแบบระบบบริการ 

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อไปว่า หลังจากมีนโยบายนี้ สธ. ได้เพิ่มศักยภาพหน่วยบริการ เช่น ที่ผ่านมามีข้อจำกัดของหน่วยรังสีรักษา แต่ สธ. ได้ลงทุนเพิ่มหน่วยรักสีรักษาจนปัจจุบันมีครบทุกเขตสุขภาพ รวม 42 หน่วย หรือจำนวนหน่วยเคมีบำบัด ในปี 2564 มี 143 หน่วย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 183 หน่วยกระจายในทุกเขตสุขภาพ

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ผลจากการดำเนินนโยบายในช่วง 2 ปีนี้ จากฐานข้อมูล สปสช. พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่จำนวนคน คือ 280,388 คน และจำนวนครั้งที่เข้ารับบริการ คือ 2,955,005 ครั้ง และจากการวิเคราะห์จำแนกตามพื้นที่ พบว่าในเขต 13 กทม. คนไข้เกือบครึ่งมาจากนอกเขต กล่าวคือ จากจำนวนผู้ป่วย 62,663 คนนั้น เป็นผู้ป่วยข้ามเขต 31,213 คน หรือ 49.81% ภายในจังหวัด 25,187 คนหรือ 40.19% และที่เหลือคือ 10,017 คน หรือ 15.99% เป็นการรับบริการที่หน่วยบริการประจำ ส่วนเขตอื่นๆ สามารถดูแลคนไข้ในจังหวัดหรือเขตของตัวเองได้ดี

ขณะเดียวกัน เมื่อจำแนกตามประเภทหน่วยบริการ เดิมสัดส่วนการให้บริการจะเป็นกลุ่มโรงเรียนแพทย์เป็นหลัก แต่หลังจากเริ่มนโยบาย มีการกระจายทรัพยากรต่างๆ พบว่าหน่วยบริการของ สธ. และศูนย์มะเร็งต่างๆ สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น และเมื่อดูแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 

สำหรับประเด็นเรื่องความพึงพอใจและการร้องเรียน พญ.ลลิตยา กล่าวว่า ในปี 2564 คะแนนความพึงพอใจของผู้รับบริการอยู่ที่ 8.50 และลดลงเป็น 8.19 ในปี 2565 ขณะที่จำนวนเรื่องร้องเรียนมีแนวโน้มลดลง จาก 96 เรื่องในปี 2564 เป็น 28 ครั้งในปี 2565 และเพิ่มเป็น 35 ครั้งในปี 2566 โดยส่วนมากเป็นการร้องเรียนใน กทม. และปริมณฑล ในประเด็นการถูกเรียกเก็บเงิน และการไม่ได้รับบริการตามสิทธิ