ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 สปสช. ชวน “องค์กรเอกชน องค์กรชุมชน และภาคประชาชน” เสนอจัดทำโครงการขับเคลื่อน “บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาระดับเขตหรือจังหวัด ปี 2567” เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ 

วันที่ 31 ก.ค. 2566 รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า 
บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท นอกจากมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับประเทศ และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชนไทยทุกคน เช่น การสนับสนุนการฉีดวัคซีน การคัดกรองโรค แล้ว สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับ “การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาระดับเขตพื้นที่หรือจังหวัด” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ที่ต้องตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพเฉพาะของประชาชนในแต่ละเขตหรือจังหวัด โดยคาดหวังให้ให้ผู้มีสิทธิบัตรทองฯ เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ นี้ 

รูปแบบของการดำเนินการ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ โดยเปิดให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคประชาชนชน ที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร และหน่วยงานของรัฐในเขตพื้นที่ ตลอดจนหน่วยบริการจัดทำโครงการที่เพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพระดับเขตพื้นที่หรือจังหวัดได้ โดย สปสช. เขตพื้นที่จะมีคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ กำกับและติดตาม รวมถึงประเมินผลการดำเนินงานเพื่อให้โครงการเป็นไปตามเป้าหมาย

ปัญหาการได้รับวัคซีนของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เช่นที่ผ่านมา เขตพื้นที่ 12 (ภาคใต้ตอนล่าง) พบปัญหาการได้รับวัคซีนของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำและเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดจึงมี การนำเสนอโครงการจากภาคประชาชนมาทำงานร่วมกับหน่วยบริการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนในเด็ก ซึ่งกลุ่มหรือองค์กรที่ได้รับทราบปัญหาสุขภาพในพื้นที่ สามารถร่วมกันทำโครงการมาขอรับงบประมาณเพื่อร่วมแก้เหตุปัญหาเฉพาะของพื้นที่ได้  

รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ มีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 123 แห่ง จาก 13 เขตพื้นที่ ร่วมนำเสนอและดำเนินการโครงการภายใต้งบประมาณการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาระดับเขตพื้นที่หรือจังหวัดทั้งหมด 184 โครงการ รวมเป็นงบประมาณกว่า 168.94 ล้านบาท เป็นโครงการฯ จากหน่วยงานภาครัฐ 151 โครงการ ส่วนที่เหลือเป็นหน่วยงานภาคเอกชน 33 โครงการ 

สำหรับในส่วนหน่วยงานภาคเอกชนนั้น มีองค์กรเอกชน และภาคประชาชน ร่วมนำเสนอโครงการและดำเนินการ 23 โครงการ อาทิ โครงการลดกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ส่งเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จังหวัดพะเยา โดยสถาบันพัฒนาชุมชนเข้มแข็งจังหวัดพะเยา, โครงการสร้างสรรค์พลังใจให้วัยทีน Strong together (ภาคประชาชน) โดยมูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน, โครงการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นเพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การวางแผนครอบครัว อนามัยการเจริญพันธุ์ โดยชมรมอาสาสมัครสร้างสุข, โครงการประเมินการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นในพื้นที่เขต 5 ราชบุรี โดยสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก และโครงการให้คำปรึกษาแนะนำการป้องกันและจัดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การวางแผนครอบครัวอนามัยเจริญพันธ์ เขต 7 ปี 2566 โดยมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ (สำนักงานภาคอีสาน) Healthnet เป็นต้น 

 

องค์กรเอกชนและภาคประชาชนสามารถเข้ามาร่วมสนับสนุนงานบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้

 “จากโครงการต่างๆ ที่ปรากฏนี้ สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรเอกชนและภาคประชาชนสามารถเข้ามาร่วมสนับสนุนงานบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาของพื้นที่ฯ ในระบบสุขภาพได้ และด้วยความเป็นองค์กรชุมชนที่คลุกคลีในพื้นที่จึงทราบปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดี จึงเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้ยังมีจำนวนไม่มาก จึงอยากเชิญชวนองค์กรภาคประชาชน องค์กรชุมชนมามีส่วนร่วม และทาง สปสช. พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่”

 รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่อว่า เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมโดยองค์กรเอกชนในแต่ละเขตพื้นที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการดำเนินโครงการฯ โดยองค์กรเอกชน สปสช.จึงได้มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยพบว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานที่สำคัญ คือเกิดการเพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มเปราะบางมากขึ้น เกิดการเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยบริการ สถาบันวิชาการ ใช้เครื่องมือทางวิชาการมาสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ในหลายโครงการ ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งพบว่าทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค บางโครงการขยายผลไปเป็นโครงการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระดับตำบล โดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) หลายต่อหลายแห่ง 

 “กรอบการดำเนินการในปี 2567 ขณะนี้ สปสช.เขตอยู่ระหว่างประกาศให้มีการนำเสนอโครงการภายใต้งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาระดับเขตพื้นที่หรือจังหวัด ดังนั้น สปสช.จึงขอเชิญชวนองค์กรเอกชน องค์กรประชาชน และองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ร่วมจัดทำโครงการฯ ต่างๆ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในระบบบัตรทองด้วย โดยสามารถของรับคำปรึกษาหรือยื่นโครงการเสนอขอรับงบประมาณผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกเขตได้ตั้งแต่บัดนี้” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว