ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ปลัดโอภาส” กำชับผู้ตรวจฯ-ผอ.รพ.ศรีสะเกษ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อมูลคนไข้ หลังโซเชียลฯแชร์ระบบรวนกระทบบริการ กำหนดระยะเวลา 2 สัปดาห์หาสาเหตุปัญหา หากพบความผิดปกติแน่ชัดให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย พร้อมเดินหน้าทำระบบ Big Data จัดข้อมูลมาตรฐานกลางดิจิทัลสุขภาพเชื่อมโยงทั้งประเทศ  

 

หลังจากสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์กรณีโรงพยาบาลศรีสะเกษ มีปัญหาระบบข้อมูลผู้ป่วยล่าช้า จนกระทบการรับบริการ ซึ่งมีการตั้งคำถามว่าเกิดจากการลบข้อมูลผู้ป่วย จนทำให้ระบบเกิดปัญหา เพื่อหวังป่วนข้อมูลแลกกับการกดดันให้โรงพยาบาลซื้อโปรแกรมจัดระบบข้อมูลผู้ป่วยใหม่หรือไม่นั้น ล่าสุดผู้อำนวยการรพ.ศรีสะเกษ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ.สั่งตรวจสอบกรณีข้อมูลคนไข้ รพ.ศรีสะเกษถูกลบ! ล่าสุดตั้งคกก.สอบข้อเท็จจริง ยันข้อมูลไม่รั่วไหล)

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว ว่า เรื่องนี้ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เขตสุขภาพที่ 10 ลงไปตรวจสอบแล้ว ขณะที่ ผอ.รพ.ศรีสะเกษได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งได้แจ้งทั้งผู้ตรวจฯ และ ผอ.รพ.ศรีสะเกษถึงกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างช้าสุด คือ 2 สัปดาห์ ให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร และมีผู้ใดเกี่ยวข้อง ถ้ามีความผิดปกติและระบุได้แน่ชัดก็ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่ง สธ. MOU ร่วมกันทำงานเรื่องระบบข้อมูลมาตลอด ให้ช่วยตรวจสอบอีกแรง  แต่ขอย้ำว่า ข้อมูลไม่ได้มีการรั่วไหลแต่อย่างใด

 

เมื่อถามว่าต่อไปจะมีการทำข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมดเป็น Big Data กลางของ สธ. เพื่อลดปัญหาระบบข้อมูลของ รพ.แต่ละแห่งที่อาจใช้คนละระบบด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในแผนดำเนินการแล้ว  โดยเรื่องดิจิทัลสุขภาพนั้น สธ.กำลังออกมาตรฐานกลางและจะมีแอปพลิเคชันกลาง และมีโปรแกรมต่างๆ มารองรับ ซึ่งจะค่อยๆ ขยับไป เพราะเดิมเราทำระบบที่ค่อนข้างต่างคนต่างทำ ตอนเอามาเชื่อมกันก็คงต้องใช้เวลา แต่อยู่ในแผนที่จะดำเนินการ ซึ่งไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถคีย์หรือเรียกข้อมูลได้หมด จริงๆขณะนี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถคีย์ข้อมูลได้แล้ว เพียงแต่อาจจะใช้คนละโปรแกรมก็อาจจะขลุกขลักเล็กน้อย และเวลาแต่ละโปรแกรมมีการอัปเดตต่างๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายและลิขสิทธิ์ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดทำระบบภาพรวมตรงกลาง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด  

 

"ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง เรามีระบบการดูแลข้อมูลไม่ให้รั่วไหลตามกฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ เข้าใจว่าไม่น่าจะล่าช้า" นพ.โอภาสกล่าว