ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เดินหน้าให้นโยบาย “โรงพยาบาลทันตกรรม” เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากประชาชน พร้อมผลิตบุคลากรรองรับ ตั้งเป้าให้ทันตกรรมประชาชนมากกว่า 100 ล้านครั้งภายใน 10 ปี จากปัจจุบัน 10 ล้านครั้งต่อปี  ล่าสุดมีรพ.รับลูกแล้ว 39 แห่ง  ส่วนปี 2567 คาดมีครบทุกจังหวัด ก่อนขยายไประดับอำเภอ พร้อมหารือ สปสช. จัดสรรงบบัตรทองเพิ่มเติมจากเหมาจ่ายรายหัว ส่วนข้อดีบุคลากรยังมีโอกาสเติบโตสายบริหาร

 

นับตั้งแต่นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้มอบนโยบายเพื่อสานต่อภารกิจสาธารณสุขหลังวิกฤตการณ์โรคระบาด "โควิด19" หนึ่งในนั้นคือ การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น  ยกระดับการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อคนไทยแข็งแรง และผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง ฯลฯ แน่นอนว่า การบริการทันตกรรมที่ครอบคลุมอยู่ในการยกระดับสุขภาพดังกล่าวด้วย จึงนำไปสู่นโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชนไทย ด้วย Dental Hospital หรือ โรงพยาบาลทันตกรรม....

(ข่าวเกี่ยวข้อง : นโยบายปลัดโอภาส ต่อระบบบริการสาธารณสุข)

นโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมDental Hospital หรือ รพ.ทันตกรรม....

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ จ.นนทบุรี  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  บรรยายพิเศษ “โรงพยาบาลทันตกรรม...ทางออกของการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากคนไทย”  ภายในการประชุมพัฒนาศักยภาพทันตแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คนจาก 12 เขตสุขภาพ  ว่า ชมรมทันตแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทยเคยหารือถึงงานบริการทันตกรรม ที่ให้บริการประชาชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 10 ล้านครั้งต่อปี  ในขณะที่บุคลากรยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่ม ทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ฯลฯ ซึ่งหากเพิ่มบุคลากรก็ต้องขยายการบริการมากขึ้น อย่างในปี 2566 จะเพิ่มการบริการประชาชนเป็น 12 ล้านครั้งต่อปีได้หรือไม่ ซึ่งก็เห็นพ้องกันว่า ทำได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการทบทวนข้อมูลพบว่า จริงๆประชาชนต้องการเข้าถึงงานบริการสุขภาพช่องปากมากน้อยแค่ไหน เราทราบกันดีว่า เพื่อสุขภาพช่องปากต้องพบหมอฟันอย่างน้อยปีละ  2 ครั้ง  เมื่อคนไทยมี 70 ล้านคน การพบหมอฟันก็จะอยู่ที่ 140 ล้านครั้ง ดังนั้น การบริการทันตกรรมที่ผ่านมา อย่าง 10 ล้านครั้งต่อปีก็เท่ากับ 8% ซึ่งหากกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการดูแลประชาชนทุกมิติ  งานทันตกรรมก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงจำเป็นต้องเดินหน้าให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากมากยิ่งขึ้น

เตรียมผลิตทันตแพทย์รองรับการบริการเพิ่มขึ้น

“ในเรื่องบุคลากร การผลิตทันตแพทย์ถือว่าน้อยมาก ที่ผ่านมาพบว่าแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 6,000 กว่าคน จาก 5 ปีก่อนอยู่ 5,000 กว่าคน ในแต่ละปีจะมีทันตแพทย์เพิ่มขึ้นแค่ราว 200 คน   อย่างจบทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตปีละ 800 คน อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขเพียง 1 ใน 4 ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ  ดังนั้น การจะให้บริการทันตกรรมแก่ประชาชนให้ได้มากกว่า 100 ล้านครั้งภายใน 10 ปี จะต้องปรับเปลี่ยนระบบใหม่ ทั้งรูปแบบการบริการ ทั้งการเพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอ เพราะหากทำเหมือนเดิมกว่าจะได้ตามเป้าหมายต้องใช้เวลา 50 ปี” ปลัดสธ. กล่าว

นพ.โอภาส  กล่าวอีกว่า ดังนั้น  จึงเกิดโครงการโรงพยาบาล(รพ.)ทันตกรรมขึ้น ซึ่งมีตัวอย่างกรมการแพทย์ ที่มีสถาบันทันตกรรมก็มีการบริหารจัดการได้ดี แต่ทำไมสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ถึงไม่มีรพ.ทันตกรรม ทั้งที่เรามีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การบริหาร การพัฒนาบุคลากร  ซึ่งเดิมมีหน่วยบริการทันตกรรมทุก รพ.อยู่แล้ว จึงไม่น่ายากที่จะขับเคลื่อนให้เป็นรพ.ทันตกรรม  อย่างในปี 2566 มีรพ.ที่พร้อมและดำเนินการแล้ว 39 แห่ง  และในปี 2567 สธ.ตั้งเป้าให้มีรพ.ทันตกรรมทุกจังหวัดเป็นอย่างน้อย จากนั้นเมื่อทุกอย่างลงตัวค่อยๆขยายไปยังอำเภอ และภายใน 10 ปีก็จะครอบคลุมมากขึ้น

หารือสปสช.แยกงบออกจากเหมาจ่ายรายหัว

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างรพ.ทันตกรรมนั้น ปัจจุบันงบฯ รพ.มาจากสำนักงบประมาณ มาจากบัตรทอง เงินบำรุง และอื่นๆ เช่น การบริจาค และกิจกรรมต่างๆ โดยงบบัตรทองต้องมีการหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เบื้องต้นได้พูดคุยกับทางนพ.จเด็จ  ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. และทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาฯ ว่า จะมีการเพิ่มเติมอย่างไร ที่ไม่ใช่งบเหมาจ่ายรายหัวเพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นงบเท่าเดิม แต่การบริการเพิ่มขึ้น  รวมทั้งประกันสังคมด้วย ส่วนข้าราชการก็จะเป็นการเบิกจ่ายตามจริงอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม รพ.ทันตกรรมจะอยู่ในนโยบาย “หนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital) โดยทางสสจ.จะสามารถจัดสรรเงินในจังหวัดให้กับรพ.ทันตกรรมได้ไม่แตกต่างรพ.ในสังกัดเช่นกัน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้สามารถเติบโตสายบริหารได้ด้วย

รายชื่อรพ.ทันตกรรม 39 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรพ.ที่เข้าร่วมนโยบาย รพ.ทันตกรรม 39 แห่ง ประกอบด้วย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์  รพ.นครพิงค์ รพ.พุทธชินราช รพ.สวรรค์ประชารักษ์ รพ.ตาคลี รพ.พระนารายณ์มหาราช รพ.ศูนย์บริการการแพทย์ นนทบุรี รพ.วังน้อย รพ.หนองแค รพ.ลำลูกกา รพ.นครปฐม รพ.พหลพลพยุหเสนา รพ.สมุทรสาคร รพ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.ดำเนินสะดวก  รพ.ท่ายาง รพ.นภาลัย รพ.บางปลาม้า

รพ.พระปกเกล้า รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว รพ.มหาสารคาม รพ.ขอนแก่น รพ.อุดรธานี รพ.บึงกาฬ รพ.ชัยภูมิ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.บุรีรัมย์ รพ.สุรินทรื รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.ยโสธร รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.วชิระภูเก็ต รพ.สงขลา รพ.หาดใหญ่ รพ.ยะลา รพ.ห้วยยอด รพ.ยะหริ่ง รพ.ธารโต และรพ.พัทลุง

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ. เผยวิธีดึง ทันตแพทย์ อยู่ในระบบหลังลาออก! ตั้ง รพ.ทันตกรรม เปิดโอกาสขึ้นซี 9 อนาคตอาจแยกเป็นกรม)