ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” เผยข่าวดี! วัคซีนโควิด HXP-GPOVac ขององค์การเภสัชฯ จากเชื้อสายพันธุ์อู่ฮั่น รอผลทดลองเฟส 3 ภายใน 8 ก.ย.นี้ คาดขึ้นทะเบียน อย.ได้เดือน ก.ย. พร้อมเจรจาสถาบันเมาท์ไซนาย สหรัฐ  ส่งเชื้อโอมิครอนมาผลิตเป็นวัคซีนเพิ่ม 2 รูปแบบ ทั้งไทยผลิตเองและจ้างผลิต อยู่ระหว่างเจรจาราคา ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนสายพันธุ์ได้ในระยะ 6 เดือน ผลิตจริง 2 เดือน

 

ข่าวดี! วัคซีนโควิดขององค์การเภสัชกรรม ใกล้ความจริงรอผลเฟส 3

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมคณะผู้บริหารระดับสูง สธ. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการติดตามเรื่องวัคซีนโควิด 19 ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่พัฒนาและกำลังที่จะนำผลไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีคือ อภ.กำลังไปร่วมมือกับสถาบันวิชาการด้านวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา ที่จะให้ประเทศไทยโดยโรงงานผลิตวัคซีนของ อภ.เป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนด้วย ถือเป็นความร่วมมือที่เกิดจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ประสานภาคีเครือข่ายในต่างประเทศและมาให้หน่วยงานในสังกัด สธ.คือ อภ.มาใช้องคาพยพต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

"ได้ให้แนวทางไปว่า ช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ ก็ขอให้คิดเรื่องที่จะมีวัคซีนเพียงพอ มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมาดูแลประชาชน ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เท่าที่เป็นไปได้ ผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ช่วงต้นก็ขอให้มองข้ามไปก่อน ขอให้ได้มีวัคซีนป้องกันโควิดในทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ล่าสุดโอมิครอน ซึ่งประเทศไทยก็จะมีความมั่นคง ทำให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง ยังผลให้การลงทุน การท่องเที่ยว การไปมาหาสู่กัน เม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เป็นผลพลอยได้จากความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย" นายอนุทินกล่าว

อภ.ร่วมสถาบันเมาท์ไซนาย สหรัฐอเมริกา  

ด้าน พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วัคซีนโควิด 19 ของ อภ.ที่จะขึ้นทะเบียนกับ อย. คือ วัคซีน HXP-GPOVac ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตต่างจากการผลิตวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวค แต่เป็นการเอาสไปค์โปรตีนของโควิดมาเลี้ยงกับ Newcastle disease virus (NDV) ซึ่งก่อเชื้อในสัตว์ปีก ไม่ก่อเชื้อในคน แล้วเอาไปเลี้ยงในไข่ ก็จะได้ตัวเชื้อมาแล้วมาทำให้ตาย ก็จะไม่มีเชื้อโควิดเลย มีแต่ตัวสไปค์โปรตีนของโควิดและ NDV แล้วมาฉีดเป็นวัคซีน ซึ่งในการผลิตนั้นทางสถาบันเมาท์ไซนาย สหรัฐอเมริกา มอบเชื้อมาให้ผลิตใน 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และบราซิล

แต่ที่ทำสำเร็จดีที่สุดและเร็วที่สุดคือ ประเทศไทย เลี้ยงเชื้อได้ดีและทำผลิตวัคซีนได้ โดยการทดลองวัคซีนในเฟส 1 และเฟส 2 ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยเรียบร้อยมีความพร้อมแล้ว ส่วนเฟส 3 พบว่า ความปลอดภัยเรียบร้อยแล้วคือ ปลอดภัยแน่ เหลือเรื่องประสิทธิภาพ โดยผลแบบไม่เป็นทางการคือผ่านแล้ว แต่ตอนนี้ต้องรอการรายงานผลอย่างเป็นทางการ (Official Report) ซึ่งเราส่งทั้งแล็บในประเทศและต่างประเทศ ทางแล็บสัญญาว่าจะส่งรายงานทางการมาวันที่ 8 ก.ย.นี้ จึงคาดว่าภายใน ก.ย.นี้ก็น่าจะขึ้นทะเบียนกับ อย.ในส่วนของวัคซีนโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่นสำเร็จ

พร้อมผลิตวัคซีนปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ได้

พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า หลังจากนั้นจะเปลี่ยนจากสายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นสายพันธุโอมิครอนต่อ โดยทำเป็นแบ็คอัปไว้ หากมีการระบาดสายพันธุ์อื่นจะได้มีความเชี่ยวชาญในการผลิตเร็วขึ้น ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ก็ไม่ย่ก เพราะถ้าไม่ต้องไปทดสอบเรื่องกระบวนการผลิตอะไรก็น่าจะผลิตได้ภายใน 2 เดือน กระบวนการขึ้นทะเบียนปกติที่เปลี่ยนสายพันธุ์ประมาณ 4 เดือน ก็จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เหมือนเป็นแค่การเปลี่ยนทะเบียนยาโดยเพิ่มสายพันธุ์เข้าไป ทั้งนี้ หากเกิดภาวะฉุกเฉินเหมือนสมัยก่อนที่วัคซีนโควิดเสร็จแรกๆ ทุกประเทศที่ต้องขึ้นทะเบียนแบบ 2 ปีก็เหลือ 30 วัน แต่กระบวนการผลิตจริงๆ 2 เดือน

ร่วมมือเมาท์ไซนายผลิตวัคซีนสายพันธุ์โอมิครอน

"การทำวัคซีนสายพันธุ์โอมิครอนมีการตกลงกับเมาท์ไซนาย 2 อย่าง คือ ส่งเชื้อตัวใหม่โอมิครอนมาให้เราผลิต และอีกส่วนคือเมาท์ไซนายจะมาจ้างเราผลิตสายพันธุ์โอมิครอน เพราะเมื่อเอาเชื้อมาแล้วทำเป็นวัคซีน วัคซีนตัวใหม่ก็ต้องเอาไปทดสอบอีก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องราคา เพราะต้นทุนการผลิตวัคซีนแพงมาก โดยเฉพาะช่วงที่ยังไม่สามารถขยายเป็นระดับอุตสาหกรรมได้ โดยที่ทำ 2 รูปแบบ เพราะแทนที่จะใช้ของเราอย่างเดียวเพื่อทดสอบทางคลินิก เขาก็จะจ้างเราผลิตเพื่อเอาไปทดสอบของเขาด้วย" พญ.มิ่งขวัญกล่าว