ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อนุกรรมการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เผยกรณี “หมออ๋อง” หรือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 โพสต์ภาพคราฟเบียร์พร้อมระบุข้อความ ชี้เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเอาผิดได้ ส่วนกรณี “พิธา” ยังคลุมเครือ

 

จากกรณีที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นภาพตนเองถือขวดแอลกอฮอล์ที่เป็นคราฟเบียร์ พร้อมระบุข้อความว่าเป็นคราฟเบียร์ตัวแรกใน จ.พิษณุโลก ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า ผิดกฎหมายฐานการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่

 

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ผศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อนุกรรมการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย” ว่า  หากว่าตามหลักกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ระบุชัดเจนว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งจะเป็นการควบคุม 2 กรณี ทั้งการโฆษณาและการแสดงชื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรณีที่เกิดขึ้นจะเข้าข่ายเรื่องที่ 2 คือ การแสดงชื่อหรือเครื่องหมาย ทั้งยังมีข้อความระบุว่า ของดีพิษณุโลก , สดชื่น ทั้งหมดนี้เป็นคำชักจูงใจ

 

“จริงๆ คุณหมอเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อสังคม (influencer) แค่โชว์ภาพก็ถือเป็นการจูงใจแล้ว ฉะนั้นถ้าตีความตามกฎหมายที่ใช้ในขณะนี้ ก็ถือเป็นความผิดตามมาตรา 32 ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 43 คือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้น ถ้ายังฝ่าฝืนต่อ ก็จะมีการปรับเป็นรายวัน เช่น ภาพที่โพสต์ ยังโพสต์ต่อ ก็จะปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาท จนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง” ผศ.ดร.บุญอยู่ กล่าว

 

เมื่อถามว่าตามกฎหมายแล้ว ผู้ใดสามารถแจ้งความเอาผิดกับ นายปดิพัทธ์ ได้บ้าง ผศ.ดร.บุญอยู่ กล่าวต่อว่า กรณีนี้ ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ซึ่งตอนนี้อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หากพบความผิดเป็นที่ประจักษ์เช่นนี้ ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ รวมถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องตีความกรณีดังกล่าว ก็จะมีคณะอนุกรรมการชื่อว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิด ตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ

 

“ส่วนกรณีนี้ ส่วนตัวมองว่า ชัดเจนกว่าเคสที่แล้วมาเร็วๆ นี้แทบไม่ต้องพิจารณา ซึ่งเคสที่แล้วยังต้องมีการตีความอยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างนัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดฯ” ผศ.ดร.บุญอยู่ กล่าว

ถามย้ำว่าเคสดังกล่าวคือ กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ร้องเอาผิดกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ได้พูดชื่อแอลกอฮอล์ผ่านสื่อใช่หรือไม่ ผศ.ดร.บุญอยู่ กล่าวว่า ประมาณนั้น กรณีนี้ยังมีความคลุมเครือ ว่าเป็นการยกตัวอย่างหรือเป็นนโยบาย เพียงแต่มีการพูดชื่อแอลกอฮอล์ แต่ส่งผลให้ขายจนหมดเกลี้ยง

 

“ประจักษ์ชัดว่าการที่บุคคลมีชื่อเสียง คนระดับผู้นำไปพูด ทำให้เกิดลักษณะว่าสินค้านั้นได้รับการโปรโมท แม้ไม่ได้เจตนาชัดเจนแต่ก็เห็นผลมาแล้ว” ผศ.ดร.บุญอยู่ กล่าว

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง