ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.โอนเงินเหมาจ่ายรายหัวบริการส่งเสริมป้องกันโรคหรืองบ PP  1.7 พันล้านบาทให้ สธ.แล้ว ส่วนที่เหลือจะเป็นการเบิกจ่ายของหน่วยบริการโดยตรง ตามรายการบริการหรือแบบนับชิ้นงาน เน้นย้ำให้รีบส่งเบิกหลังจะสิ้นสุดปีงบ 66

 

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเบิกจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) หลังมีความชัดเจนทางกฎหมายว่า สามารถให้บริการคนไทยทุกคนทุกสิทธิได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประสานให้ รพ.สังกัด สธ.ให้บริการไปก่อนแล้วเบิกจ่ายย้อนหลังในช่วงที่การตีความยังไม่ชัดเจน ว่า เห็นว่า สปสช.จะทยอยส่งเงินมา เพราะโดยระบบจะส่งไปที่หน่วยบริการโดยตรง ไม่ได้ผ่านมาที่ สธ. จะส่งไปยัง รพ.คู่สัญญาโดยตรง ก็ต้องไปตรวจสอบอีก แต่ตรงนั้นเป็นเงินก้อนที่ไม่ใหญ่มาก คิดเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ คาดว่าน่าจะไม่กี่พันล้านบาท ส่วนใหญ่เงินก้อนใหญ่ส่งมาเรียบร้อยแล้ว

 

ถามว่าการให้บริการไปก่อนนี้ มีผลต่อเรื่องของการขาดทุนด้วยหรือไม่  นพ.โอภาสกล่าวว่า งบ PP โดยเฉพาะในการดูแลกลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง ถือเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่ใช่งบประมาณส่วนใหญ่

 

ถามต่อว่าการเงินติดลบของ รพ.หลังช่วงโควิดคลี่คลายแล้วเกิดจากอะไร นพ.โอภาสกล่าวว่า รพ.ติดลบระดับ 7 เรียกว่าน้อยมาก แทบไม่มีเลย ก็เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งรายได้น้อย รายจ่ายเยอะ แต่ภาพรวมไม่เยอะ ที่เราแก้ไขคืออยากให้แต่ละจังหวัด มีการเงินเป็นระบบเดียวกัน เรียกว่า One Province  One Hospital ก็คือแต่ละจังหวัด จะมี รพ.ที่มีรายได้เยอะ อาจจะเป็นพื้นที่เจริญ มีข้าราชการเยอะเบิกเยอะ บาง รพ.มีรายได้น้อย อาจจะมีประชากรน้อย ก็ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สามารถหมุนเงินจาก รพ.เยอะไปช่วย รพ.น้อยได้ โดยระบบที่เป็นธรรมที่คุยกันในระดับจังหวัด

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้เราเริ่มดำเนินการโอนเงินค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้แก่หน่วยบริการที่ให้บริการในกลุ่มที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองแล้ว เราเสนอบอร์ด สปสช.หลายครั้งแล้วว่าถ้า รมว.สธ.ลงนามเมื่อไรเราพร้อมโอนทันที หลายส่วนเราโอนไปแล้ว ยังติดนิดเดียวคือบางอันที่ต้องนับชิ้นงาน ซึ่งเราเคยให้ข่าวไปว่า ให้หน่วยบริการให้บริการไปก่อนแล้วมาเบิก บางท่านส่งมา บางท่านยังไม่ส่งก็ต้องกลับไปรวบรวมข้อมุล ตรงนี้ก็ติดเล็กน้อย แต่ส่วนที่เป็นเป้าหมายที่ต้องโอนแล้วนี่โอนแล้วไม่มีปัญหา

 

ในส่วนของ รพ.สังกัด สธ.ก็มีการรวบรวมข้อมูลเข้ามาเบิกจ่ายแล้ว ส่วนที่เป็นงบเหมาจ่ายที่ต้องลงไปประมาณ 1.7 พันล้านบาทเข้าใจว่าโอนแล้ว แต่จะเหลือพวกนับชิ้นงาน เช่น การฉีดวัคซีน การให้บริการ อะไรที่เป็นตามรายบริการ (Fee Schedule) เราพยายามเตือนให้รีบส่งเข้ามา เพราะเดี๋ยวจะสิ้นปีงบประมาณเราก็พยายามจะรีบเคลียร์ให้

 

ส่วนนอกสังกัด สธ.มีหลายส่วนที่ชะลอการให้บริการ ตรงนี้อาจจะต้องขอเร่ง เพราะบางส่วนไม่ได้ลงไปให้บริการ แม้กระทั่งเรื่องผ้าอ้อมสำหรับผู้สุงอายุและติดเตียง ซึ่งเป็นงบกองทุนท้องถิ่นก็ไม่ได้ใช้ เราก็ส่งหนังสือแจ้งเวียนทุกหน่วยแล้วว่า เมื่อมีความชัดเจนแล้วขอให้กรุณาเร่ง ถ้าอันไหนใช้ไม่ทันในปีงบประมาณ ด้วยอำนาจของสำนักงานฯ สามารถขยายเวลาการใช้เงินได้ 1 ปี ดังนั้น ถ้ายังไม่ทำโครงการหรือยังไม่ได้ปรับก็ขอให้เร่งทำเข้ามา เพราะเราไม่มีความประสงค์ที่จะดึงเงินกลับ และอยากให้เกิดงานด้วย เลยพยายามแจ้งเตือน ส่วนที่มีปัญหาคือภาคเอกชนมากกว่าที่เดิมไม่มั่นใจไม่ได้ให้บริการ แต่รัฐอย่าง สธ.ก็มีนโยบายให้บริการไปก่อน แต่บางท่านอาจยังไม่ส่งมาเบิกเราก็เตือนทุกครั้งว่าให้ส่งมา